วัตถุประสงค์ของบล็อกนี้

เพื่อประกอบการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และเป็นเเหล่งรวบรวมความรู้ต่างๆที่น่าสนใจ

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บันทึก16กค2555 ผู้ป่วยลาตาย ตอนที่1

บันทึก16กค2555 ผู้ป่วยลาตาย ตอนที่1
โดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ตลอดชีวิตที่รับราชการ มีผู้ป่วยมาลาตายเป็นระยะ

ผู้ป่วยรายแรกเป็นสุภาพสตรีติดเชื้อเอดส์ น่าจะเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกๆของจังหวัดเชียงราย

ตอนที่เชื้อเอดส์โจมตีจังหวัดเชียงรายเมื่อกลางทศวรรษที่30นั้นไม่มีใครตั้งตัวทัน ระบบการให้คำปรึกษายังไม่ตั้งตัว พยาบาลให้คำปรึกษายังไม่มี ภาวะติดเชื้อเอดส์ยังเป็นของใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าควรพูดกับผู้ป่วยว่าอย่างไร

เชียงรายเวลานั้นคนหนุ่มตายเป็นใบไม้ร่วง ผมไปงานศพบ้านหลังหนึ่งที่ร่องขุ่น ประมาณสิบห้ากิโลเมตรจากโรงพยาบาลจังหวัด บ้านนี้เหลือแต่พ่อแม่เพราะลูกชายสามคนตายด้วยโรคเอดส์ทุกคน เวลานั้นผู้ติดเชื้อเอดส์จะผอม ผิวดำ ผมเส้นบางสีน้ำตาล มีรอยโรคตามผิวหนังทั่วไป ทั้งหมดนี้สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ชาวบ้านด้วยกันเองสามารถบอกได้ว่าใครติดเชื้อเอดส์

ตอนนั้นสถานการณ์บังคับให้ผมต้องอ่านหนังสือเรื่อง crisis intervention อีกครั้งหนึ่งและเขียนบทความฟื้นฟูวิชาการเรื่อง การให้คำปรึกษาเรื่องการติดเชื้อเอดส์ ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยยุคนั้น จากนั้นจึงใช้บทความที่ตนเองเขียนเป็นคู่มือทำงานและสอนเรื่อยมา

ผู้ติดเชื้อเอดส์ในปีแรกๆถูกโยนไปมาระหว่างแผนกและระหว่างโรงพยาบาลเสมอ ผมจึงร่วมมือกับนักจิตวิทยาทำคอร์สอบรมการให้คำปรึกษาแก่พยาบาลวิชาชีพทั่วทั้งโรงพยาบาล มานึกย้อนดูก็รู้ว่าไม่ได้มีเจตนาให้ใครให้คำปรึกษาเป็นเพราะที่แท้แล้วงานล้นมือทุกคน แต่อย่างน้อยทัศนคติต่อผู้ติดเชื้อเอดส์ก็เปลี่ยนไป

นึกว่าทบทวนหนังสือแล้ว จัดคอร์สอบรมแล้วปัญหาจะหมด ปรากฏว่าหลงลืมไปอีกเรื่องคือเรื่องผู้ป่วยมาลาตาย เรื่องผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายนั้นเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ของยากอะไรในการจัดการ แต่เรื่องผู้ป่วยมาลาตายไม่เคยมีอาจารย์สอนว่าให้ทำอย่างไร ตำราก็ไม่เคยอ่านพบว่าให้ทำอย่างไร

อะไรที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้จึงเป็นtacitล้วนๆ

ผู้ป่วยที่มาลาตายมักพูดว่าคุณหมอไม่ต้องให้ยาไม่ต้องนัดเพราะครั้งนี้จะมาเป็นครั้งสุดท้าย ตั้งใจจะกลับไปฆ่าตัวตาย

ขั้นแรก ผมจัดการแบบผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายทั่วไปคือexplore ถามผู้ป่วยให้แน่ใจว่าคิดจะฆ่าตัวตายหรือครับ ซึ่งผู้ป่วยก็จะตอบรับและยืนยันว่าตั้งใจกลับไปฆ่าตัวตายแน่นอนแล้ว

“จะใช้วิธีไหน” มักเป็นคำถามที่สองของผม ผู้ป่วยตอบได้หลากหลาย จะกินยา จะกระโดดตึก จะแขวนคอตาย จะยิงตัวตาย หลักๆก็4วิธีนี้

“จะกินยาอะไรหรือครับ” เป็นคำถามถัดไปหากเขาตอบว่าจะกินยา จะกินยาอะไร กี่เม็ด เตรียมไว้หรือยัง รู้มาจากไหนว่ากินแล้วตาย ซื้อยาได้ที่ไหน

“จะกระโดดตึกที่ไหนครับ” เป็นคำถามถัดไปหากเขาเลือกวิธีนี้ ตึกกี่ชั้น ตั้งใจกระโดดชั้นที่เท่าไร เคยขึ้นไปสำรวจหรือยัง จะพาใครไปเป็นเพื่อนมั้ย

“จะใช้อะไรแขวนคอ” เป็นคำถามถัดไปหากเขาคิดจะแขวนคอ เชือกอะไรหรือผ้าอะไร ที่ไหน บ้านหรือที่ไหน ห้องไหน คิดจะมัดเชือกหรือผ้ากับอะไร เรื่องแขวนคอตายเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์มาก ผมพบการแขวนคอที่ห้อยเชือกจากลูกบิดประตูแล้วตายในท่านั่งหลายครั้ง ทั้งที่หอพักและในโรงพยาบาล

“มีปืนในบ้านแล้วหรือครับ” เรื่องปืนจะเป็นเรื่องอันตรายที่สุด ผมพบผู้ใหญ่ที่คิดฆ่าตัวตายมักเลือกวิธีนี้เสมอ แทบไม่ต้องถามเลยว่าใช้ปืนเป็นมั้ย มักจะถามว่าเก็บปืนไว้ที่ไหน มีใครในบ้านรู้ที่เก็บปืนบ้าง ที่ผมถามเสมอคือคิดยิงคนอื่นก่อนยิงตนเองมั้ย

อะไรที่เล่ามาเป็นหมวดวิธีการเท่านั้นซึ่งเราสามารถตั้งคำถามได้หลากหลายและเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ ระหว่างนี้ท่าทีของเราเองที่ต้องจริงใจ เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องซีเรียสและจริงจัง เราสำรวจความคิดของเขาและช่วยเขาสำรวจความคิดของตัวเองอย่างเป็นระบบช้าๆ ไม่รีบ ไม่คุกคาม แต่ก็ไม่ถอย สัมภาษณ์ไปเรื่อยๆจนกว่าจะชัดว่าคิดจะทำอะไร อย่างไร และเมื่อไรกันแน่

ที่สำคัญคือไม่ห้าม ผมไม่เคยห้ามใครเลยสักครั้งเดียว

เมื่อสำรวจวิธีแล้วจึงถึงขั้นตอนสำรวจความสัมพันธ์ ผมใช้หลายคำถามแล้วแต่คน “จะเขียนจดหมายหาใครบ้าง” ทำไมเขียนให้คนนี้ ตั้งใจจะบอกเขาว่าอะไร ไม่เขียนให้ลูกด้วยหรือ ไม่เขียนให้พ่อหรือ เขียนให้แต่แม่คนเดียวหรือ การสำรวจความสัมพันธ์เท่ากับเตือนให้เขาระลึกถึงความสัมพันธ์มากมายที่เกี่ยวโยงเขาไว้กับโลกมนุษย์ เขาจะแคร์หรือไม่แคร์ความสัมพันธ์เหล่านี้เราให้เขาคิดเอาเอง

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นการเปิดทางให้ผู้ป่วยได้เรียบเรียงความคิดอันสับสนอลหม่านออกมาเป็นรูปประโยคที่มีประธาน กริยา กรรม ให้เขาเรียงลำดับจากเหตุไปผล ทบทวนวิธีการและเจตนา ทบทวนความสัมพันธ์ทั้งคนรักและคนเกลียด อย่าลืมว่าคนที่เกลียดก็เป็นสัมพันธภาพแบบหนึ่ง โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีโอกาสเรียงลำดับความคิดของตนเองมักเข้าใจได้ว่าตนเองกำลังต้องการอะไรกันแน่ เริ่มตั้งแต่อยากนอนหลับนานๆ อยากหายตัวไปชั่วคราว อยากตายแต่ไม่อยากลงมือกับตัวเอง อยากฆ่าตัวตายแต่ไม่แน่ใจนัก หรือต้องการปลิดชีพตนเองจริงๆ

ระหว่างการสำรวจ เรามักพาเขาออกนอกทางไปสำรวจเรื่องอื่นได้ด้วย ในขณะเดียวกันเขากำลังสร้างสัมพันธภาพกับเราโดยไม่รู้ตัว

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นวิธีพูดคุยกับผู้ป่วยที่คิดฆ่าตัวตายทั่วไป ยังไม่ใช่ผู้ป่วยที่มาลาตาย สำหรับผู้ป่วยที่มาลาตายเขามักปิดบทสนทนาด้วยการลาจริงๆ “คุณหมอไม่ต้องให้ยากับใบนัดหนูค่ะ จะไม่มาพบอีกแล้ว”

ยังมีต่อ

ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/494987

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น