วัตถุประสงค์ของบล็อกนี้

เพื่อประกอบการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และเป็นเเหล่งรวบรวมความรู้ต่างๆที่น่าสนใจ

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประสบการณ์ปัญหาในการทำกลุ่มจิตบำบัด

ประสบการณ์ปัญหาในการทำกลุ่มจิตบำบัด
โดย พันตำรวจโท วินัย ธงชัย (วท.บ.,นบ.,กศ.ม.)
ผู้เขียนทำงานเป็นนักจิตวิทยาเป็นเวลาหลาย ๆ ปี และจากประสบการณ์ในการทำกลุ่มจิตบำบัดกับคนไข้จิตเวชในอดีต รวมทั้งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำกลุ่มจิตบำบัดกับนักจิตวิทยาท่านอื่น ๆ พบว่า โดยส่วนมากผู้นำกลุ่มมักมีความคิดว่าการทำกลุ่มจิตบำบัดเป็นเรื่องไม่ยากลำบาก เพียงนำคนไข้มาร่วมกันพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาแล้วช่วยกันแก้ไขก็เท่านี้หรือทำตามโปรแกรมหรือคู่มือที่ได้รับมาจากการอบรม แต่เมื่อเริ่มทำกลุ่มจริง ๆ พบว่า มีปัญหาในการดำเนินกลุ่มอย่างมากมาย เช่น คนไข้ที่เข้ากลุ่มจิตบำบัดบางคนไม่พูดหรือพูดไม่รู้เรื่อง มีอาการทางจิตมาก จำนวนคนไข้เข้ากลุ่มบางครั้งก็มากเกิน (10-12 คน) บางครั้งก็น้อยเกิน (3-4) นอกจากนี้เมื่อเริ่มพูดคุยประเด็นปัญหาพบว่า คนไข้ส่วนมากไม่ค่อยยอมพูดเกี่ยวกับปัญหาของตน บางรายบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร ครอบครัวอยู่กันอย่างมีความสุข และในบางครั้งคนไข้บางรายก็พูดมากเกินและมีปัญหามาก ต้องการพูดคุยกับผู้นำกลุ่มเกี่ยวกับปัญหาของตนเองตลอดเวลาการทำกลุ่ม ทำให้คนไข้อื่นในกลุ่มรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่สนใจกลุ่ม และต่อมาเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ผู้นำกลุ่มก็เริ่มท้อถอย แต่ก็พยายามหากลวิธีในการดำเนินกลุ่มให้ดูน่าสนใจและมีประโยชน์ ซึ่งพบว่าผู้นำกลุ่มส่วนมากมักใช้การสอนหรือให้ความรู้และอาจนำเกมหรือกิจกรรมอื่น ๆ เข้ามาใช้ในการทำกลุ่ม มีผลให้กลุ่มดูสนุกคนไข้ให้ความสนใจ แต่ประโยชน์ของกลุ่มที่ได้เพียงช่วยให้คนไข้ผ่อนคลายเท่านั้น คนไข้ไม่ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับปัญหาของตนเองเท่าทีควร และลักษณะกลุ่มที่ทำอยู่นั้นเป็นเพียงกิจกรรมกลุ่ม (Group Activity) มากกว่าจะเป็นกลุ่มจิตบำบัด ระยะต่อมาผู้นำกลุ่มเริ่มรู้สึกลำบากใจในการทำกลุ่มจิตบำบัด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนไข้ให้มากที่สุด จึงมีผลให้ผู้นำกลุ่มเริ่มหลีกเลี่ยงการทำกลุ่ม หาโอกาสที่จะหยุดและไม่ทำกลุ่ม แต่ถือว่าโชคดีที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำกลุ่มจิตบำบัดอย่างต่อเนื่อง(8-10 ปี) ทำให้ผู้เขียนเข้าใจถึงการทำกลุ่มจิตบำบัดที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไรและเห็นถึงจุดบกพร่องของตนเองหลายประการในอดีต ซึ่งมีผลให้การดำเนินกลุ่มจิตบำบัดไม่ประสบผลสำเร็จ ดังขออธิบายปัญหาและข้อบกพร่องต่าง ๆ ดังนี้

1. ขั้นเตรียมกลุ่มจิตบำบัด
1.1 ความไม่สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงาน กล่าวคือถ้าหน่วยงานไม่มีนโยบายให้มีการจัดกลุ่มจิตบำบัดในคนไข้ ซึ่งถ้าผู้นำกลุ่มจัดกลุ่มจิตบำบัด ผู้บังคับบัญชาจะไม่ค่อยสนับสนุนการทำกลุ่มจิตบำบัด
1.2 ไม่มีการสำรวจความต้องการของคนไข้ก่อนว่า มีความต้องการความช่วยเหลือจากผู้บำบัดก่อนหรือไม่ และต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบใดและในเรื่องใด เพราะถ้าผู้นำกลุ่มดำเนินกลุ่มในลักษณะที่ไม่ตรงกับความต้องการของคนไข้ก็จะทำให้คนไข้ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่สนใจกลุ่ม รู้สึกเบื่อหน่าย
1.3 ไม่มีการเตรียมคนไข้ก่อนนำเข้าทำกลุ่มจิตบำบัด กล่าวคือ ผู้นำกลุ่มไม่ได้สำรวจและสัมภาษณ์คนไข้ก่อนจัดกลุ่ม ทำให้คนไข้ที่มีอาการทางจิตมาก ๆ เข้าร่วมกลุ่ม ซึ่งยังผลให้เป็นที่รบกวนการดำเนินกลุ่มอย่างมาก
1.4 กลุ่มไม่มีความหลากหลาย เช่นโรงพยาบาลบางแห่งมีเฉพาะคนไข้ชาย ทำให้การทำกลุ่มจิตบำบัดมีแต่สมาชิกเป็นผู้ชาย เนื้อหาเรื่องที่พูดคุยกันมีความจำกัดเฉพาะด้านของผู้ชาย หลายครั้งเนื้อหาเป็นการโจมตีผู้หญิง (ภรรยาของคนไข้) และคนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีปัญหากับภรรยาคล้าย ๆ กัน จึงมักมีความเห็นเหมือนกันโจมตีผู้หญิงว่าไม่ดี เอาเปรียบ
2. ขั้นดำเนินกลุ่มจิตบำบัด
ในขั้นนี้ลักษณะปัญหาแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่
(1) ลักษณะปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกกลุ่ม
(2) ลักษณะปัญหาของกระบวนการกลุ่ม
2.1 ลักษณะปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกกลุ่ม
2.1.1 สมาชิกกลุ่มไม่ค่อยพูดหรือมักปฏิเสธว่าตนเองไม่มีปัญหาอะไร แม้ผู้นำกลุ่มจะได้พยายามถามด้วยคำถามเปิด เช่น “ใครมีปัญหาอะไรบ้าง เชิญขอให้เล่าได้เลย” มีคนไข้น้อยรายมากที่จะยอมเล่าเรื่องของตนเองก่อน หรือถ้าถามเรียงคนก็มักจะปฏิเสธว่าตนเองไม่มีปัญหาอะไร
2.1.2 ในกรณีคนไข้บางรายมีอาการทางจิตมากและไม่ยอมอยู่ร่วมในการทำกลุ่ม ผู้นำกลุ่มไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร ควรอนุญาตให้กลับที่พักในตึกผู้ป่วย หรือควรให้อยู่ในกลุ่มต่อไป หรือควรให้นั่งสังเกตนอกกลุ่ม ซึ่งในกรณีที่ยอมให้อยู่ในกลุ่มต่อ ผู้นำกลุ่มมักเสียเวลาต้องดูแลจัดการคนไข้รายนี้อย่างมากจนบางครั้งทำให้สมาชิกอื่นบางรายรำคาญได้
2.1.3 คนไข้สมาชิกในกลุ่มบางรายมีอาการเสียใจ เจ็บปวดจากเรื่องที่เล่า หรือถูกสมาชิกในกลุ่มพูดแรง ๆ จนต้องร้องไห้ ผู้นำกลุ่มมักจะต้องระงับเหตุการณ์และสะท้อนความรู้สึกของคนไข้และพยายามปลอบใจ ให้กำลังใจ แต่มักปรากฏว่าคนไข้กลับร้องไห้มากขึ้น ดังขึ้น จนต้องเสียเวลาในการปลอบใจและให้คนไข้รายอื่นให้กำลังใจ ปลอบใจคนไข้ด้วยกัน และพบว่าบรรยากาศของกลุ่มดูแย่ลง สมาชิกบางรายตกใจ เสียขวัญ
2.1.4 ในกรณีสมาชิกค่อนข้างก้าวร้าว มักพูดดูถูกคนไข้อื่นหรือให้คำแนะนำผู้อื่นแบบตรงไปตรงมา ไม่รักษาน้ำใจผู้อื่น ผู้นำกลุ่มไม่ทราบว่าควรทำอย่างไรกับคนไข้ดังกล่าว จึงจะเกิดประโยชน์กับกลุ่มและกับคนไข้ประเภทนี้
2.1.5 การขอให้คนไข้ในกลุ่มช่วยกันแสดงความคิดเห็นแก้ไขปัญหาของสมาชิกที่เล่าปัญหา มักพบว่าคนไข้สมาชิกกลุ่มมักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นรวมทั้งสมาชิกเจ้าของปัญหามักรู้สึกว่าคนไข้สมาชิกอื่นก็มีปัญหาเช่นกันแล้วจะช่วยเหลือกันได้อย่างไร
2.2 ลักษณะปัญหาของกระบวนการกลุ่ม
2.2.1 การแนะนำกลุ่มจิตบำบัดแก่คนไข้ เพื่อให้ทราบถึงวิธีการ กฎกติกา วันเวลาในการทำกลุ่ม วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับนั้นว่า ควรอธิบายมากน้อยเพียงใด บางครั้งแนะนำน้อยไป คนไข้ไม่เข้าใจและไม่รู้จะวางตัวอย่างไรในกลุ่ม และถ้าอธิบายมากไปก็ดูน่าเบื่อหน่าย คนไข้อาจต้องจดจำหรือระมัดระวังตนเองมากเกินไปได้
2.2.2 เมื่อสมาชิกในกลุ่มเล่าเรื่องและปัญหาแล้วทุกคน ผู้นำกลุ่มไม่แน่ใจว่าควรจะเริ่มเรื่องรายใดก่อน ซึ่งแต่ก่อนมักจะให้คนไข้เลือกเรื่องที่สนใจ บางครั้งเรื่องที่คนไข้เลือกมักเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีประโยชน์นัก เช่น เป็นเรื่องที่คนไข้อยากรู้ประวัติของคนไข้กันเอง และผู้นำกลุ่มก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะชักนำกลุ่มให้พูดคุยในเรื่องที่เป็นประโยชน์ โดยมากคนไข้มักพูดคุยในเรื่องที่เป็นอดีต
2.2.3 บางครั้งก่อนทำกลุ่มผู้นำกลุ่มได้มีโอกาสพูดคุยกับพยาบาลประจำตึกคนไข้ พบว่าบางครั้งมีปัญหาว่าคนไข้ฝ่าฝืนระเบียบการรักษาและกฎเกณฑ์ของตึก เช่น แอบออกไปดื่มสุราข้างนอก หรือมีการลักขโมยของกันในตึกและทะเลาะกัน เมื่อเข้ากลุ่มคนไข้หลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในตึกและผู้นำกลุ่มเองก็ไม่แน่ใจว่าควรนำเรื่องนี้มาพูดคุยในกลุ่มหรือไม่ หรือถ้านำมาพูดควรจะพูดอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์กับคนไข้มากที่สุด
2.2.4 ในการซักถามรายละเอียดปัญหาคนไข้สมาชิกกลุ่ม พบว่าผู้นำกลุ่มบางคนมักถามในรายละเอียดของปัญหามาก ทำให้เมื่อซักถามยาวทำให้สมาชิกคนอื่นรู้สึกเบื่อและไม่สนใจกลุ่ม และถ้าซักถามน้อยไป ทำให้ไม่ได้ประเด็นปัญหาที่เด่นชัด
2.2.5 เมื่อคนไข้สมาชิกเล่าเรื่องปัญหาของตนแล้วพบว่า เป็นเรื่องที่มีความแตกต่างกัน มีความหลากหลายมาก ทำให้ผู้นำกลุ่มไม่รู้ว่าวันนั้นจะพูดคุยทุกเรื่องให้ครบได้อย่างไรโดยที่สมาชิกทุกคนจะได้ประโยชน์ ซึ่งถ้าเอาทุกเรื่องมาพูดมักจะเกินเวลาในการทำกลุ่ม
2.2.6 หลายครั้งผู้นำกลุ่มฟังเรื่องของคนไข้แล้วพบว่ามีตัวปัญหาสำคัญแท้จริงเป็นคนละเรื่องกับที่คนไข้เข้าใจ เมื่อผู้นำกลุ่มพยายามอธิบายมักพบว่า คนไข้มีความรู้สึกสับสน ไม่เข้าใจ บางครั้งก็หัวเสีย และสมาชิกคนอื่นก็รู้ไม่เข้าใจด้วยยิ่งทำให้การทำกลุ่มครั้งนั้นดูตึงเครียดทั้งคนไข้และผู้นำกลุ่ม
2.2.7 หากปัญหาของคนไข้เป็นเรื่องยาก มีความลำบากในการตัดสินใจ แม้สมาชิกในกลุ่มพยายามแสดงความคิดเห็นก็ไม่สามารถหาทางออกที่ดีได้ ผู้นำกลุ่มไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร ยิ่งทำให้มีความรู้สึกอึดอัดใจที่ไม่สามารถช่วยคนไข้ได้และไม่รู้ว่าจะพูดปลอบใจคนไข้อย่างไร
3. ขั้นจบกระบวนการกลุ่ม
3.1 เมื่อครบเวลาในการทำกลุ่มแล้ว แต่เรื่องที่พูดคุยยังไม่หมด ผู้นำกลุ่มไม่แน่ใจว่าควรจะหยุดกลุ่มเลยหรือควรต่อเวลาพูดคุยออกไปจนหมดประเด็นปัญหา
3.2 เมื่อจบกลุ่มควรมีการสรุปประเด็นปัญหาการพูดคุยในวันนั้นหรือไม่ ใครควรเป็นผู้สรุปประเด็นปัญหา
3.3 ในกรณีมีคนไข้อื่นที่ไม่ได้เข้ากลุ่มนั่งสังเกตการณ์อยู่นอกกลุ่ม ผู้นำกลุ่มไม่แน่ใจว่าควรให้บุคคลนอกกลุ่มพูดวิจารณ์กลุ่มหรือไม่
3.4 ในกรณีที่ตอนท้ายของกระบวนการกลุ่มจะจบ มีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นแล้วทำให้คนไข้สมาชิกเสียใจและร้องไห้ขึ้นมา ผู้นำกลุ่มไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร ควรต่อเวลาทำกลุ่มออกไปหรือไม่ ทำอย่างไรสมาชิกคนอื่นจะไม่ตกใจและเสียขวัญ
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นประสบการณ์ในอดีตที่ผู้นำกลุ่มหลาย ๆ คนอาจเคยประสบมา ยังผลให้มีความรู้สึกลำบากในการทำกลุ่มจิตบำบัด ซึ่งพบว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากหลายประการพอสรุปได้ คือ
1. ไม่ทราบว่ากลุ่มจิตบำบัดคืออะไร
2. ไม่ทราบว่ากลุ่มจิตบำบัดทำงานอย่างไร
3. ไม่ทราบเป้าหมายหรือเข้าใจปัจจัยของการรักษาของกลุ่มจิตบำบัดว่ามี
อะไรบ้าง
4. ไม่ทราบวิธีการชักนำให้คนไข้สมาชิกกลุ่มไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม
และโอกาสหน้าจะได้มาขยายความวิธีการแก้ไขในแต่ละปัญหาอีกทีครับ
บันทึก23กค2555 ผู้ป่วยลาตาย ตอนที่2

โดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

หนังเรื่อง Puncture นำแสดงโดย คริส อีแวนส์ เล่าเรื่องปี1998เมื่อครั้งโรคเอดส์เริ่มคุกคามสหรัฐอเมริกา หนังเปิดเรื่องพยาบาลห้องฉุกเฉินคนหนึ่งทำเข็มตำตัวเอง หลังจากนั้นไม่นานเธอป่วยด้วยโรคเอดส์ เธอตั้งทนายฟ้องหน่วยงานรัฐบาลแห่งหนึ่งที่ฝ่าฝืนกฎหมายการผูกขาดด้วยการ สั่งซื้อหลอดฉีดยาพร้อมเข็มจากบริษัทเดียว ทั้งที่มีบริษัทอื่นที่ผลิตหลอดฉีดยาพร้อมเข็มนิรภัยออกใช้แล้วด้วยต้นทุน ที่สูงกว่าเข็มละ5เซนต์ หลอดฉีดยาแบบใหม่จะดีดเข็มกลับทันทีที่ดึงออกจาก ผิวหนังของผู้ป่วย

ตอนที่พยาบาลท่านนี้ล้มป่วยระยะสุดท้าย เธอเล่าว่าเธอเพิ่งจะรู้ว่าปฏิกิริยาทั้ง5ของKubler-Rossเป็นเรื่องจริงคือ shock,denial,anger,depressed,accept เธอเพิ่งรู้ด้วยว่าปฏิกิริยาทั้ง5ไม่เพียงเกิดสลับไปมาแต่บางครั้งเกิดพร้อมๆกันในคราวเดียว

เวลาผู้ป่วยสับสนอลหม่าน ที่เราควรทำคือช่วยผู้ป่วยเรียงลำดับความคิดของตนเองอย่างเป็นระบบ วิธีหนึ่งคือช่วยเขาพูดออกมา

เวลาพบผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตาย(suicidal idea) เราควรช่วยเขาสำรวจความคิดของตนเองให้แน่ใจว่าเขาต้องการอะไรกันแน่ ระหว่างความปรารถนาที่จะนอนหลับยาวๆสักครั้ง ความปรารถนาที่จะหายไปจากโลก ความปรารถนาที่จะตายแต่ไม่ได้คิดจะทำร้ายตัวเอง ความปรารถนาที่จะทำร้ายตนเองแต่ไม่ถึงตาย หรือความปรารถนาที่จะฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้เราควรช่วยให้เขาหวนระลึกถึงความสัมพันธ์ที่เขามีต่อบุคคลต่างๆ เชื่อกันว่า(ซึ่งมีแต่คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จไปแล้วจะรู้ว่าความเชื่อนี้จริงหรือเปล่า)คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ พูดง่ายๆว่า กระโดดลงมาจากตึกสูงได้ เขาต้องยอมรับสภาวะที่ไม่มีสัมพันธ์กับใครอีกแล้วในโลก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนรัก ลูก หมา หรืออดีต แม้กระทั่งอนาคต การชวนให้เขาระลึกถึงความสัมพันธ์เหล่านี้อีกครั้งอาจจะช่วยประวิงเวลาไปได้อีกสักพัก




เวลาอีกสักพักนั้นสำคัญ ดังที่ทราบกันว่า(และควรบอกให้ผู้ป่วยทราบด้วย)ความคิดฆ่าตัวตายเป็นอะไรที่ไปๆมาๆได้ ช่วงที่มาหากไม่ลงมือก็จะผ่านไป หากช่วงที่มามีปืนพร้อมในมือก็อาจจะไม่ผ่านไปแต่ลงนรกแทน ดังนั้นเวลาอีกสักพักเป็นเรื่องสำคัญ การบอกผู้ป่วยให้รู้ความจริงข้อนี้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ให้เขารู้จักอดทนพาตนเองผ่านความคิดนั้นไป

เวลาอีกสักพัก เป็นเวลาที่จิตแพทย์รอให้ยาที่ใช้รักษาออกฤทธิ์ ในกรณีเร่งด่วน แพทย์โรงพยาบาลจิตเวชอาจจะตัดสินใจรักษาด้วยไฟฟ้าเพราะเป็นวิธีหยุดความคิดฆ่าตัวตายที่เร็วและชะงัด แต่ถ้าไม่อยากใช้วิธีนี้ก็ต้องรู้จักใช้ยาให้เป็น ยาอะไรที่ออกฤทธิ์เร็วที่สุด คือออกฤทธิ์สกัดความคิดฆ่าตัวตาย มิใช่ออกฤทธิ์ต้านอารมณ์เศร้า สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน

หลังจากผมสำรวจความคิดผู้ป่วยและช่วยผู้ป่วยสำรวจความคิดตนเองดังที่เล่าให้ฟังในตอนที่1แล้ว จึงเป็นขั้นตอนให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่ายาช่วยได้ และขอให้เขากินยาและมาตามนัด

ผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาอะไร ยกเว้นผู้ป่วยที่ตั้งใจมาลาตายจริงๆก็จะยุ่งหน่อย ผู้ป่วยมักพูดว่าจะไม่เอายาและไม่เอาใบนัด เขามาลา

ขั้นตอนนี้ผมจะสุภาพ สงบ และรักษาtherapeutic relationshipคือความสัมพันธ์เชิงรักษาให้มั่นคง ยืนยันด้วยคำพูดที่สุภาพและจริงใจว่าผมมีหน้าที่เขียนใบสั่งยาและจ่ายยาแก่เขา ผมขอให้เขาไปเบิกยาและกินยาตามสั่ง

ผู้ป่วยอาจจะยังพูดอะไรต่อมิอะไรในขั้นตอนนี้ รวมทั้งยืนยันว่าไม่เอายา

ผมอยู่ในtherapeutic relationship พูดซ้ำอีกครั้งว่าผมมีหน้าที่ให้ใบสั่งยาแก่เขา จากนั้นผมจะลุกเดินอ้อมโต๊ะไปที่ผู้ป่วยและยื่นใบสั่งยาแก่เขาด้วยความสุภาพ จะด้วยกลไกทางจิตหรือด้วยวัฒนธรรมไทยก็ตาม ร้อยทั้งร้อยยื่นมือมารับใบสั่งยาไป

จากนั้นผมเดินกลับมานั่งโต๊ะและเริ่มเขียนใบนัด เป็นไปได้ว่าผู้ป่วยจะพูดซ้ำว่าไม่ต้องการใบนัด แต่เนื่องจากเราอยู่ใน therapeutic relationship ผมจึงเขียนใบนัดและยื่นให้ข้ามโต๊ะ จำได้ว่าก็ยื่นมือมารับทุกราย มีคนเดียวที่ผมต้องลุกเดินอ้อมโต๊ะไปให้เขากับมืออีก เขาก็ยื่นมือมารับแต่โดยดี

จากนั้นผมจะนั่งลง มองหน้าผู้ป่วย ทำให้แน่ใจว่าเขากำลังมองหน้าเรา แล้วผมพูดว่า “หมอขอให้กินยานี้7วัน แล้วมาตามนัด หมอจะรอคุณสมชายที่นี่ เช้าวันจันทร์ตอนเก้าโมงนะครับ” คำสำคัญคือผมจะรอคุณ บอกชื่อของเขาให้เรียบร้อย ที่นี่ เก้าโมงเช้า (ความหมายคือเรามีพันธะผูกพันแล้ว ถ้าคิดจะตายใน7วันนี้ เขาต้องตัดพันธะนี้ทิ้งให้ได้ด้วย)

สำหรับวิชาชีพจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ควรรู้ว่าtherapeutic relationshipเป็นสัมพันธภาพที่ตัดยาก ผมจึงพร่ำสอนทุกคนให้เคร่งครัดกับเรื่องนี้ หากใครยังชอบสร้างsocial relationshipคือความสัมพันธ์เชิงสังคมกับผู้ป่วยก็คงต้องหาวิธีทำงานและแก้ปัญหาอีกแบบ แต่ถ้าพูดกันอย่างไม่เกรงใจ ความสัมพันธ์เชิงสังคมเป็นunethical จริยธรรมวิชาชีพข้อแรกคือFirst do no Harm การที่เราไม่รักษาtherapeutic relationshipเป็นการทำร้ายผู้ป่วยเพราะtherapeutic relationshipเป็นเครื่องมือของเรา เรามักเป็นฝ่ายทำลายเครื่องมือนี้ทิ้งเอง

ผู้ป่วยอาจจะพูดอะไรต่ออีกหลังจากได้ใบสั่งยาและใบนัดแล้ว ขั้นตอนนี้ผมอาจจะฟังอีก1-2ประโยคแต่ไม่ตอบสนองอะไรแล้ว ผมจะเดินไปเปิดประตูให้ผู้ป่วยและแสดงให้เห็นหรืออาจจะพูดเชิญเขาออกจากห้องไปพบพยาบาลที่หน้าห้องได้ การสนทนาสำหรับวันนี้ปิดแล้ว ผู้ป่วยจะเรียนรู้ว่าเขากำลังพบtherapeutic relationshipที่แข็งแรง หมอไม่ใช่ใครที่เขาเคยรู้จัก หมอจริงใจ รับฟัง พร้อมช่วยเหลือ และเป็นกลาง(neutral)

โดยทั่วไปภารกิจเขียนและยื่นใบนัดเป็นของพยาบาลหน้าห้อง แต่ในกรณีเช่นนี้ผมเขียนเองและยื่นเองดังที่เล่ามา

แน่นอนว่าผมให้ยากินด้วย อาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปหมดแล้วสอนผมที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาสอน ผมว่าเราควรจ่ายยาอะไรสำหรับผู้ป่วยที่คิดฆ่าตัวตายอย่างรุนแรง การจ่ายยานี้เป็นtacit อาจารย์เคยใช้ได้ผล ผมใช้มาอีก30ปีก็ได้ผล ไม่มีเขียนไว้ในตำราแพทย์ใดๆ

ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/495701

บันทึก16กค2555 ผู้ป่วยลาตาย ตอนที่1

บันทึก16กค2555 ผู้ป่วยลาตาย ตอนที่1
โดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ตลอดชีวิตที่รับราชการ มีผู้ป่วยมาลาตายเป็นระยะ

ผู้ป่วยรายแรกเป็นสุภาพสตรีติดเชื้อเอดส์ น่าจะเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกๆของจังหวัดเชียงราย

ตอนที่เชื้อเอดส์โจมตีจังหวัดเชียงรายเมื่อกลางทศวรรษที่30นั้นไม่มีใครตั้งตัวทัน ระบบการให้คำปรึกษายังไม่ตั้งตัว พยาบาลให้คำปรึกษายังไม่มี ภาวะติดเชื้อเอดส์ยังเป็นของใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าควรพูดกับผู้ป่วยว่าอย่างไร

เชียงรายเวลานั้นคนหนุ่มตายเป็นใบไม้ร่วง ผมไปงานศพบ้านหลังหนึ่งที่ร่องขุ่น ประมาณสิบห้ากิโลเมตรจากโรงพยาบาลจังหวัด บ้านนี้เหลือแต่พ่อแม่เพราะลูกชายสามคนตายด้วยโรคเอดส์ทุกคน เวลานั้นผู้ติดเชื้อเอดส์จะผอม ผิวดำ ผมเส้นบางสีน้ำตาล มีรอยโรคตามผิวหนังทั่วไป ทั้งหมดนี้สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ชาวบ้านด้วยกันเองสามารถบอกได้ว่าใครติดเชื้อเอดส์

ตอนนั้นสถานการณ์บังคับให้ผมต้องอ่านหนังสือเรื่อง crisis intervention อีกครั้งหนึ่งและเขียนบทความฟื้นฟูวิชาการเรื่อง การให้คำปรึกษาเรื่องการติดเชื้อเอดส์ ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยยุคนั้น จากนั้นจึงใช้บทความที่ตนเองเขียนเป็นคู่มือทำงานและสอนเรื่อยมา

ผู้ติดเชื้อเอดส์ในปีแรกๆถูกโยนไปมาระหว่างแผนกและระหว่างโรงพยาบาลเสมอ ผมจึงร่วมมือกับนักจิตวิทยาทำคอร์สอบรมการให้คำปรึกษาแก่พยาบาลวิชาชีพทั่วทั้งโรงพยาบาล มานึกย้อนดูก็รู้ว่าไม่ได้มีเจตนาให้ใครให้คำปรึกษาเป็นเพราะที่แท้แล้วงานล้นมือทุกคน แต่อย่างน้อยทัศนคติต่อผู้ติดเชื้อเอดส์ก็เปลี่ยนไป

นึกว่าทบทวนหนังสือแล้ว จัดคอร์สอบรมแล้วปัญหาจะหมด ปรากฏว่าหลงลืมไปอีกเรื่องคือเรื่องผู้ป่วยมาลาตาย เรื่องผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายนั้นเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ของยากอะไรในการจัดการ แต่เรื่องผู้ป่วยมาลาตายไม่เคยมีอาจารย์สอนว่าให้ทำอย่างไร ตำราก็ไม่เคยอ่านพบว่าให้ทำอย่างไร

อะไรที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้จึงเป็นtacitล้วนๆ

ผู้ป่วยที่มาลาตายมักพูดว่าคุณหมอไม่ต้องให้ยาไม่ต้องนัดเพราะครั้งนี้จะมาเป็นครั้งสุดท้าย ตั้งใจจะกลับไปฆ่าตัวตาย

ขั้นแรก ผมจัดการแบบผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายทั่วไปคือexplore ถามผู้ป่วยให้แน่ใจว่าคิดจะฆ่าตัวตายหรือครับ ซึ่งผู้ป่วยก็จะตอบรับและยืนยันว่าตั้งใจกลับไปฆ่าตัวตายแน่นอนแล้ว

“จะใช้วิธีไหน” มักเป็นคำถามที่สองของผม ผู้ป่วยตอบได้หลากหลาย จะกินยา จะกระโดดตึก จะแขวนคอตาย จะยิงตัวตาย หลักๆก็4วิธีนี้

“จะกินยาอะไรหรือครับ” เป็นคำถามถัดไปหากเขาตอบว่าจะกินยา จะกินยาอะไร กี่เม็ด เตรียมไว้หรือยัง รู้มาจากไหนว่ากินแล้วตาย ซื้อยาได้ที่ไหน

“จะกระโดดตึกที่ไหนครับ” เป็นคำถามถัดไปหากเขาเลือกวิธีนี้ ตึกกี่ชั้น ตั้งใจกระโดดชั้นที่เท่าไร เคยขึ้นไปสำรวจหรือยัง จะพาใครไปเป็นเพื่อนมั้ย

“จะใช้อะไรแขวนคอ” เป็นคำถามถัดไปหากเขาคิดจะแขวนคอ เชือกอะไรหรือผ้าอะไร ที่ไหน บ้านหรือที่ไหน ห้องไหน คิดจะมัดเชือกหรือผ้ากับอะไร เรื่องแขวนคอตายเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์มาก ผมพบการแขวนคอที่ห้อยเชือกจากลูกบิดประตูแล้วตายในท่านั่งหลายครั้ง ทั้งที่หอพักและในโรงพยาบาล

“มีปืนในบ้านแล้วหรือครับ” เรื่องปืนจะเป็นเรื่องอันตรายที่สุด ผมพบผู้ใหญ่ที่คิดฆ่าตัวตายมักเลือกวิธีนี้เสมอ แทบไม่ต้องถามเลยว่าใช้ปืนเป็นมั้ย มักจะถามว่าเก็บปืนไว้ที่ไหน มีใครในบ้านรู้ที่เก็บปืนบ้าง ที่ผมถามเสมอคือคิดยิงคนอื่นก่อนยิงตนเองมั้ย

อะไรที่เล่ามาเป็นหมวดวิธีการเท่านั้นซึ่งเราสามารถตั้งคำถามได้หลากหลายและเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ ระหว่างนี้ท่าทีของเราเองที่ต้องจริงใจ เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องซีเรียสและจริงจัง เราสำรวจความคิดของเขาและช่วยเขาสำรวจความคิดของตัวเองอย่างเป็นระบบช้าๆ ไม่รีบ ไม่คุกคาม แต่ก็ไม่ถอย สัมภาษณ์ไปเรื่อยๆจนกว่าจะชัดว่าคิดจะทำอะไร อย่างไร และเมื่อไรกันแน่

ที่สำคัญคือไม่ห้าม ผมไม่เคยห้ามใครเลยสักครั้งเดียว

เมื่อสำรวจวิธีแล้วจึงถึงขั้นตอนสำรวจความสัมพันธ์ ผมใช้หลายคำถามแล้วแต่คน “จะเขียนจดหมายหาใครบ้าง” ทำไมเขียนให้คนนี้ ตั้งใจจะบอกเขาว่าอะไร ไม่เขียนให้ลูกด้วยหรือ ไม่เขียนให้พ่อหรือ เขียนให้แต่แม่คนเดียวหรือ การสำรวจความสัมพันธ์เท่ากับเตือนให้เขาระลึกถึงความสัมพันธ์มากมายที่เกี่ยวโยงเขาไว้กับโลกมนุษย์ เขาจะแคร์หรือไม่แคร์ความสัมพันธ์เหล่านี้เราให้เขาคิดเอาเอง

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นการเปิดทางให้ผู้ป่วยได้เรียบเรียงความคิดอันสับสนอลหม่านออกมาเป็นรูปประโยคที่มีประธาน กริยา กรรม ให้เขาเรียงลำดับจากเหตุไปผล ทบทวนวิธีการและเจตนา ทบทวนความสัมพันธ์ทั้งคนรักและคนเกลียด อย่าลืมว่าคนที่เกลียดก็เป็นสัมพันธภาพแบบหนึ่ง โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีโอกาสเรียงลำดับความคิดของตนเองมักเข้าใจได้ว่าตนเองกำลังต้องการอะไรกันแน่ เริ่มตั้งแต่อยากนอนหลับนานๆ อยากหายตัวไปชั่วคราว อยากตายแต่ไม่อยากลงมือกับตัวเอง อยากฆ่าตัวตายแต่ไม่แน่ใจนัก หรือต้องการปลิดชีพตนเองจริงๆ

ระหว่างการสำรวจ เรามักพาเขาออกนอกทางไปสำรวจเรื่องอื่นได้ด้วย ในขณะเดียวกันเขากำลังสร้างสัมพันธภาพกับเราโดยไม่รู้ตัว

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นวิธีพูดคุยกับผู้ป่วยที่คิดฆ่าตัวตายทั่วไป ยังไม่ใช่ผู้ป่วยที่มาลาตาย สำหรับผู้ป่วยที่มาลาตายเขามักปิดบทสนทนาด้วยการลาจริงๆ “คุณหมอไม่ต้องให้ยากับใบนัดหนูค่ะ จะไม่มาพบอีกแล้ว”

ยังมีต่อ

ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/494987

โรคพิลึก ไม่สยอง ไม่ประหลาด แค่ดูไม่ฉลาดเท่านั้นเอง

โรคพิลึก ไม่สยอง ไม่ประหลาด แค่ดูไม่ฉลาดเท่านั้นเอง



Academic Underachievement เป็นลักษณะอาการแปลกๆ ที่เกิดกับเด็กที่มีระดับเชาวน์ปัญญา (I.Q.)ปกติ แต่ผลการเรียนกลับไม่ได้ผลดีตามระดับสมองเลย เกรดต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ โดยวัดจากระดับผลการเรียนทางวิชาการเท่านั้น academic หมายถึง วิชาการ underachievement คือ ผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควร เป็นลักษณะที่เห็นได้ในเด็กที่อาจที่ทำกิจกรรมเก่ง ตอบคำถามในห้องได้ หัวไว เรียนรู้เร็ว เราเองก็มองว่าเจ้าเพื่อนคนนี้ ต้องเรียนเก่งแน่ๆ เลย แต่ผลกลับออกมาว่า ไม่ยักเรียนเก่งแฮะ คนที่มีลักษณะของ Academic Underachievement นี้ บางคนก็กังวลใจมากที่ผลการเรียนไม่ดีเท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นกลุ่มที่เฉยชา ไม่สนใจการเรียน หรือไม่สนใจว่าผลการเรียนจะเป็นอย่างไร

ลักษณะสำคัญที่ปรากฎ เช่น
1. ทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ล่าช้ากว่ากำหนด ไม่สนใจงาน ครูไม่ทวง ตัวเองก็ไม่ทำ
2. ระดับผลการเรียนต่ำกว่าระดับเชาวน์ปัญญา
3. เรียนไม่เก่ง แต่ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ดี มีความรู้อื่นๆ นอกเหนือตำราเรียนดี
4. มีเรื่องวิตกกังวล ตึงเครียดมาก จากเรื่องการเรียนหรือเรื่องอื่นๆ จนขัดขวางความสามารถที่แท้จริงของเด็ก
5. ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ทำให้ไม่รู้จักพัฒนาตนเอง (ไม่รู้จะทำให้สำเร็จไปทำไม)
6. ระบบการเรียน วิธีการสอน สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนไม่เหมาะกับลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก

สาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดลักษณะของโรคนี้ ส่วนมากจะเป็นสาเหตุทางจิตใจที่เกิดได้จากทั้งปัจจัยภายนอก อย่างเรื่อง

(1) กดดันในครอบครัว พ่อ แม่เป็นไม่สนใจหนังสือหนังหาอยู่แล้ว อยากให้ลูกรีบๆ เรียนให้จบจะได้ออกมาช่วยทำมาหากิน พ่อแม่เองก็ไม่เห็นคุณค่าของการเรียน แล้วลูกจะไปสนใจเรียนได้อย่างไร
(2)ครู ครูส่วนหนึ่งแนวโน้มว่าจะสนใจคนเรียนเก่งมากกว่าเรียนไม่เก่ง เลยยิ่งไม่ได้รับความสนใจจากครู
(3)เพื่อน เด็กและวัยรุ่นมีแนวโน้มจะทำตามกลุ่ม ถ้าเพื่อนเป็นกลุ่มไม่เรียน ก็ไม่เรียนตามเพื่อนด้วย และ
(4)ปัจจัยในใจตนเอง อย่าง นิสัยเอื่อยเฉื่อย ไม่สนใจอะไรรอบตัว หรือกลัวถูกคาดหวังและความผิดพลาด จากวันหนึ่งที่เรียนเก่งแต่จู่ๆ ก็กลัวพลาด กลัวพ่อแม่จะว่า กดดันตัวเองมากจนเป็นปัญหาทางจิตใจและส่งผลต่อการเรียนในที่สุด

ยิ่ง ถ้าเป็นเด็กอัจฉริยะ อาจรำคาญใจที่มาเรียนในชั้นที่ไม่ใช่ระดับความสามารถตนเอง อย่างอายุจริงเท่า ม.1 สมองเท่าม.4 แต่เรียนม.2 ตัวเองก็เบื่อ เลยพาลไม่ตั้งใจเรียนไปซะเลย มีงานก็ไม่ส่ง ครูสอนก็ไม่ฟัง อาจไม่มาสอบด้วยซ้ำ เลยทำให้ไม่มีคะแนนและผลการเรียนก็ออกมาไม่ดี หรืออาจเข้ากับเพื่อนต่างวัยไม่ได้ เป็นต้น รวมๆ แล้วสาเหตุที่จะทำให้เกิดลักษณะอาการของโรคนี้เองก็ยังคาบเกี่ยวกับสาเหตุ ของโรคอีกหลายๆ โรคเลยค่ะ


ลักษณะ อาการแบบนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดง่ายๆ นะคะ ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นปัจจัยที่เกิดจากความกดดันคะ เรียกว่า เป็นอาการที่เกิดจากจิตใจมากกว่าพฤติกรรม ดังนั้น ถ้าใครขี้เกียจเฉยๆ เกียจคร้านไปตามเรื่องตามราวด้วยตนเอง ก็ไม่ได้เป็นโรคนี้นะ แล้วโดยส่วนมากแล้วจะมีแนวโน้มว่าจะเกิดกับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้าน วิชาการ กลุ่ม Gifted มากกว่าเด็กทั่วไปค่ะ แล้วอาจถูกวินิจฉัยร่วมกับอาการสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือปัญหาทางอารมณ์และสังคมก็ได้ แต่ต้องสังเกตและพิจารณาควบคู่ไปกับพฤติกรรมที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย คือ เคยมีผลการเรียนดีอยู่ แล้วค่อยๆ ผลการเรียนต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งที่ดูไม่มีปัญหาอะไรเป็นเกรดพรวดพราด เป็นครั้งคราว แล้วกลับมาเกรดเท่าเดิมก็ไม่ใช่ค่ะ


ที่สำคัญกลุ่ม อาการแบบนี้ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือนักจิตวิทยาเท่านั้นนะคะ ไปคิดเอง เออเอง ว่าตัวเองมีอาการ Academic Underachievement ไม่ได้นะ จ๊ะ และไม่ว่าจะเรียนเก่งหรือไม่ก็ตาม หรือไม่ว่าจะเกิดจากเหตุผลอะไร เราก็ไม่ควรไปตราหน้าเพื่อนคนไหนว่า "แกมันเรียนไม่เก่ง แกต้องเป็นโรคนี้แน่ๆ" การถูกตราหน้าจากคนอื่นไม่เป็นผลดีกับใครเลย แม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงมากๆ ก็ตาม รังแต่จะทำให้เสียความมั่นใจในตนเองมากขึ้นด้วยซ้ำ


ที่นำมาให้อ่านกัน ก็ถือว่าเป็นความรู้ค่ะ เพราะ จริงๆ คนเราอาจจะเจอกับเรื่องกดดันอะไรในชีวิตจนทำให้คิดและเป็นอย่างที่ไม่ควรแบบ นี้ เช่น ตนเองคิดอยู่เสมอว่า ทำไมต้องพยายาม ทำอะไรทั้งที่ไม่มันไม่มีอะไรดีขึ้น หรือถ้าได้คะแนนดี ก็จะคิดว่ามันบังเอิญ ฟลุ๊กมากกว่า คือ ถ้าเราคิดกับตนเองแบบนี้แต่แรก ผลของมันก็คือการไม่เชื่อว่าตนเองจะทำอะไรได้สำเร็จอยู่แล้วค่ะ ที่เขาเรียกกันว่า การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ หรือ low self-esteem และมันก็อาจเป็นลักษณะหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำนี่ แหละค่ะ พี่เกียรติไม่อยากให้ใครมีความคิดในใจแบบไม่เชื่อกระทั้งใจตนเองแบบนี้นะ


บางทีเรื่องจิตใจก็เข้าใจยากนะคะ บางทีสมองดีก็จริง
แต่หัวใจหม่นหมอง ก็ไม่ทำให้เรามีความสุขหรอกเนอะ

เพราะฉะนั้นจงมั่นใจในสมองและสองมือของตนเอง และทำสิ่งที่ดีด้วยความตั้งใจกันเถอะ!




ที่มา http://variety.teenee.com

พาโธโลจิคอล แกมบลิ้ง แก้'จิตติดพนัน'

พาโธโลจิคอล แกมบลิ้ง แก้'จิตติดพนัน'
ขณะที่กระแสปราบปรามบ่อนกำลังมา แรง ทั้ง "บ่อนวิ่ง" "บ่อนเปลือยอก" "บ่อนแฟรนไชส์" ฯลฯ แต่มีการกล่าวถึงวิธีการปราบ "ตัวผู้เล่น" หรือนักพนันกันน้อยมาก ทั้งที่การแพทย์สมัยใหม่บ่งชี้ชัดว่า ผู้ติดการพนันเป็นโรคจิตประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจิตเภท เนื่องจากมันส่งผลให้เสียคน เสียอนาคต ฆ่าตัวตาย ครอบครัวล้มละลาย และทำลายประเทศชาติไม่น้อยกว่าติดยาเสพติดหรือติดเหล้า



เมื่อปี 2550 มีรายงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ของผู้เล่นการพนันจากบ่อนการพนันตามแนวชายแดน : กรณีศึกษาบ่อนการพนันที่ปอยเปต ต.โอโจวโรว จ.บันเตียเมียนเจย” โดยรวบรวมข้อมูลการสัมภาษณ์นักพนัน 400 คน ผลการศึกษาพบว่าสาเหตุที่ไปเล่นพนันเพราะอยากได้เงิน นักเล่นพนันส่วนใหญ่เสียเงินมากกว่าได้เงิน แม้จะยอมรับว่าการไปเล่นพนันแต่ละครั้งส่วนใหญ่เสียเงินไม่เกิน 2 แสนบาท และไม่มีภาระหนี้สิน ไม่ส่งผลกระทบต่อการงานและครอบครัว ไม่มีผลต่อปัญหาสุขภาพจิตและอาชญากรรม แต่ผู้นิยมเสี่ยงดวงในบ่อนยอมรับว่าในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มว่าปัญหาจะ รุนแรงมากขึ้น



ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้พฤติกรรมติดการพนันเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง เรียกว่า “พาโธโลจิคอล แกมบลิ้ง” (Pathological Gambling) ผู้ป่วยจะหมกมุ่นคิดถึงแต่เรื่องการเล่นพนัน อยากกลับไปเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ต่างจากคนติดเหล้า ติดบุหรี่ หรือติดยาเสพติด ผู้ป่วยกลุ่มนี้รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขหลังจากได้เสี่ยงดวง ยิ่งไปกว่านั้นผู้ติดการพนันมักมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกันคือ ยิ่งเสียยิ่งทุกข์ ยิ่งอยากลงเงินเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ



ข้อมูลสถิติศูนย์วิจัยความสุขชุมชนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จัดทำเมื่อปี 2553 ระบุว่า ผู้ติดพนันตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่นจะยิ่งส่งผลร้ายต่ออนาคต โดยร้อยละ 61 นำไปสู่การก่อคดีจี้ปล้นชิงทรัพย์ ร้อยละ 12 ล่อลวงเงินจากคนใกล้ชิด ร้อยละ 9 เริ่มทำร้ายร่างกายคนใกล้ชิด สุดท้ายคือการขายทรัพย์สินใช้หนี้พนัน หรือไปขายบริการทางเพศ ค้ายาเสพติด สุดท้ายคือนักพนันคนนั้นจะเริ่มเสียสติและพยายามฆ่าตัวตาย



ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาชื่อดังจากโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) อธิบายถึงผู้มีปัญหาติดการพนันว่า หากพิจารณาพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้อย่างลึกซึ้งจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มที่มี "อาการทางสังคม" หรือมีปัญหาทางครอบครัวหรือค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องพึ่งพาการพนันเป็นวิธีหาเงินหรือหวังรวยทางลัด และประเภท 2 คือกลุ่มเป็น "โรคติดการพนัน" พาโธโลจิคอล แกมบลิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มต้องเข้ารับการบำบัดรักษา โดยพฤติกรรมของผู้มีอาการของโรคติดพนันนั้น แม้ว่ามีเงินหรือร่ำรวยแล้วก็ตาม แต่ยังต้องการเล่นพนันเพราะอยากรู้สึกถึงความตื่นเต้น อยากเอาชนะ เวลาที่ได้เงินหรือชนะการพนันจะรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่



นักจิตวิทยาข้างต้นยอมรับว่า คนไทยที่ยอมไปหาจิตแพทย์รักษาอาการทางจิตนั้น ส่วนใหญ่จะมีอาการทางร่างกายจนเกิดจากความทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหว เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ ฯลฯ ส่วนผู้ที่ติดพนันกลับรู้สึกตรงข้ามเป็นความหลงผิดแบบไม่รู้ตัว คิดว่าตัวเองกำลังมีความสุข หรือตื่นเต้นสนุกสนาน พวกนี้ยอมเลิกเล่นพนันก็ต่อเมื่อหมดเงินหรือหมดตัว และติดหนี้พนันเยอะแยะจนไม่สามารถเล่นได้อีก กลยุทธ์สำหรับวิธีรักษาผู้เป็นโรคติดพนันนั้น ต้องหาสาเหตุเบื้องลึกให้เจอ เช่น ไปเล่นไพ่เพราะอยากตื่นเต้น หรืออยากเอาชนะ หรือมาจากปัญหาครอบครัว เช่น เลียนแบบพ่อติดพนัน หรือแม่ติดไพ่ เมื่อรู้สาเหตุแท้จริงแล้ว วิธีบำบัดคือหากิจกรรมชดเชยให้ทำแทน ไปเที่ยวต่างจังหวัด กิจกรรมร้องเพลง เต้นรำ ฯลฯ การรักษาต้องใช้เวลาต่อเนื่อง 1-3 เดือนขึ้นไป



"ประมาณร้อยละ 70 ของคนไทยที่นิยมเล่นการพนัน เป็นกลุ่มที่มีอาการทางสังคม อยากรวยเร็วๆ ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นกลุ่มที่มีอาการติดการพนันทุกชนิด ขอให้ได้เสี่ยงดวงจะชอบมาก หากใครอยากรู้ว่าเพื่อนฝูงหรือญาติเป็นกลุ่มที่เรียกว่าเป็นโรคติดการพนัน หรือไม่ ให้สังเกตจากจำนวนที่ออกไปเล่นไพ่ เข้าบ่อน ตู้เกม หรือเล่นการพนันชนิดต่างๆ หากเล่นอย่างน้อยอาทิตย์ละไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง เรียกว่ามีความผิดปกติเป็นโรคติดพนัน ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญบำบัดรักษา แต่คนไทยที่ติดพนันไม่ค่อยไปหาหมอรักษา เพราะไม่รู้ตัวเป็นโรคจิต คิดแต่ว่าเล่นแล้วสนุกมีความสุขดี ได้ตื่นเต้นเร้าใจ" ดร.วัลลภกล่าวทิ้งท้าย


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย ทีมโต๊ะรายงานพิเศษ และ http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/26630

นอนไม่พอกลไกสมองเปลี่ยน มองโลกดีไป กล้าได้กล้าเสียเกิน

นอนไม่พอกลไกสมองเปลี่ยน มองโลกดีไป กล้าได้กล้าเสียเกิน

การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้คนเรากล้าได้กล้าเสียมากขึ้น เนื่องจากสมองส่วนที่ประเมินผลบวกทำงานหนักกว่าสมองส่วนที่ประเมินผลลบ

เอเอฟพี – ผลศึกษาพบคนที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอมีแนวโน้มตัดสินใจโดยที่มองโลกแง่ดี เกินความเป็นจริง ทำให้กล้าเสี่ยงในเกมพนันมากขึ้น

งานศึกษาที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารนิวโรไซนส์ แสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในสิ่งที่ผู้จัดการกาสิโนมากมายรู้มานานแล้วว่า แสงไฟกะพริบและเสียงกังวานใสของเครื่องสล็อตแมชีนกระตุ้นให้นักพนันหยอด เหรียญเดิมพันชนิดหยุดไม่ได้จนกว่าเงินจะหมด

นักวิจัยอเมริกันใช้เครื่องเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) ตรวจสอบสมองของผู้ที่นอนหลับไม่สนิทและพักผ่อนไม่เพียงพอ เทียบกับผู้ที่หลับเต็มอิ่มตลอดคืน

ผลการสแกนแสดงให้เห็นว่าในกลุ่มคนนอนน้อย สมองส่วนที่ประเมินผลลัพธ์แง่บวกทำงานหนักขึ้น ขณะที่สมองส่วนที่ประเมินผลแง่ลบทำงานเนือยลง

“เมื่อใช้ภารกิจที่ต้องมีการตัดสินใจที่อิงกับความเสี่ยง เราพบว่าการอดนอนทำให้คนส่วนใหญ่มีความโน้มเอียงจากการหลีกเลี่ยงการเสีย เงินไปหาการลองเสี่ยงเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊คในนอร์ธแคโรไลนากล่าว

การศึกษาใช้อาสาสมัครวัยผู้ใหญ่สุขภาพดี 29 คน อายุเฉลี่ย 22 ปี โดยอาสาสมัครเหล่านี้ถูกขอให้ทำภารกิจที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ หลังจากได้นอนพักผ่อนตามปกติหนึ่งคืน และครั้งที่ 2 หลังจากนอนหลับไม่เพียงพอ

นักวิจัยเผยว่า การอดนอน ดูเหมือนทำให้เกิด อคติแง่บวก ตัวอย่าง เช่นอาสาสมัครตัดสินใจราวกับว่าสิ่งที่ทำจะเกิดผลดี (ได้รับรางวัลที่มีมูลค่าสูงขึ้น) และแนวโน้มที่จะได้ผลลบน้อยมาก (หรือมีอันตรายน้อยลง)

ไวน็อด เวนคาทราแมน จากคณะจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยดุ๊ค ซึ่งเป็นแกนนำการจัดทำรายงาน ระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สูดอากาศบริสุทธิ์ หรือออกกำลังกาย ไม่เพียงพอต่อสู้ผลลัพธ์จากความอ่อนเพลียหลังอดนอน

“นักพนันที่นอนดึกต้องต่อสู้ไม่เพียงกับโอกาสที่เป็นได้น้อยมากของอุปกรณ์การพนัน แต่ยังต้องต่อสู้กับแนวโน้มของสมองจากการอดนอนที่โน้มเอียงไปที่การได้มากกว่าเสีย”

ขอบคุณข้อมูล จิตวิทยาทั่วไป จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 เมษายน 2554

ที่มา http://blog.eduzones.com/snowytest/85088

ปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น

ปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น

Adolescent Problems

นพ. พนม เกตุมาน สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



วัยรุ่นเป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้มากที่สุดวัยหนึ่ง ซึ่งแสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรมได้หลายประการ เช่น ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ มีแฟนและมีเพศสัมพันธุ์ ใช้ยาเสพติด ทำผิดกฎหมาย ปัญหาพฤติกรรมบางอย่างมักเกิดขึ้นมานาน จนทำให้การแก้ไขมักทำได้ยาก การป้องกันปัญหาจึงมีความจำเป็น และสำคัญมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว การป้องกันดังกล่าว ควรเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งแต่เด็ก เด็กที่มีพัฒนาการของบุคลิกภาพดี จะมีภูมิต้านทานโรคทางจิตเวชต่างๆ และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นได้อย่างมากเช่นกัน พ่อแม่และครูอาจารย์และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กทั้งหลาย จึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งเด็กจนถึงวัยรุ่นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ สังคมและสิ่งแวดล้อมก็ควรมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นเช่นเดียวกัน

สุขภาพจิตหมายถึงอะไร

"สภาพจิตใจที่เป็นสุข สามารถมี สัมพันธภาพ และรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นไว้ได้อย่างราบรื่น สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ได้ ภายใต้ภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม และลักษณะความเป็นอยู่ในการดำรงชีพ วางตัวได้อย่างเหมาะสม และปราศจากอาการป่วยของโรคทางจิตใจและร่างกาย"
ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิต

สุขภาพจิตที่ดี เกิดจากร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง ความสามารถทางจิตใจที่ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์ สภาพครอบครัวที่อบอุ่นและสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี

สุขภาพจิตมีความสำคัญอย่างไร

คนที่มีสุขภาพจิตดี จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข เรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพที่มี ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น ไม่เกิดอาการทางจิตเวช หรือโรคทางจิตเวชได้ง่าย ถึงแม้ชีวิตจะเผชิญปัญหามาก ก็สามารถแก้ไขผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

คนที่สุขภาพจิตไม่ดี มักมีปัญหาในการปรับตัว มีอาการทางจิตเวช เช่น ความเครียด ซึมเศร้า แม้ว่าจะเจอปัญหาเล็กๆ ก็ปรับตัวได้ลำบาก มีปัญหาพฤติกรรมได้บ่อย มักเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชได้ง่าย และฟื้นตัวไม่ได้ดี

ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อย

· ไม่เรียนหนังสือ

· ติดเกมส์

· ติดการพนัน

· การเรียน การปรับตัว

· ปัญหาทางเพศ สาเหตุ

· การใช้และติดยาเสพติด

· พฤติกรรมผิดปกติ Conduct disorder

· โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

· บุคลิกภาพผิดปกติ

สาเหตุของปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น

· ร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของสารเคมี สารสื่อนำประสาท โรคทางกาย โรคระบบประสาท สารพิษ

· จิตใจ บุคลิกภาพ ความคิด การมองโลก การปรับตัว

· สังคม การเลี้ยงดู ปัญหาของพ่อแม่ ตัวอย่างของสังคม สื่อต่างๆ



จุดเน้นของการพัฒนาวัยรุ่นไทย เพื่อป้องกันปัญหาพฤติกรรม



เป้าหมายของการพัฒนา มุ่งสู่ อีคิว

ให้มีพัฒนาการทุกด้าน ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต มีทั้งเก่ง ดี และ มีสุข

การเรียน เน้นให้ เรียนรู้ด้วยตัวเอง คิดเอง

วัยรุ่นจะเป็นวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง ความรู้ทางวิชาการนับวันจะมีมากขึ้น ครูไม่สามรถสอนความรู้ให้หมดได้อีกต่อไป ในอนาคต การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงการรู้จักเลือกแหล่งข้อมูลข่าวสาร ให้ได้สิ่งที่ถูกต้อง

หาเอกลักษณ์ส่วนตน

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กจะเริ่มเข้าใจตนเอง รู้จักตนเองมากขึ้นว่า เป็นคนอย่างไร มีความชอบความถนัดอะไรบ้าง มีจุดเด่นจุดด้อยอะไร อยากเรียนไปทางไหน อยากทำอาชีพใด รวมถึงเอกลักษณ์ทางเพศด้วย

การทำงานร่วมกัน

ส่งเสริมให้มีทักษะในการทำงานร่วมกัน มีความสามัคคี มีทักษะในการเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี ระเบียบวินัยส่วนตัว และของกลุ่ม มีการสื่อสารเจรจาที่มีประสิทธิภาพ

แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์

พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กรู้จักการคิดและทำด้วยตนเอง มีความพอใจ และภูมิใจกับการทำงาน มีความสนุกกับงาน มองเห็นงานเป็นเรื่องท้าทายความสมารถ ไม่ท้อแท้ สู้งาน เพลิดเพลินได้กับงาน และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาอยู่เสมอ

วงจรความสุขของชีวิต

เด็กทุกคนควรมีวิธีทำให้ตนเองมีความสุข และสนุกกับการดำเนินชีวิต ด้วยงานหรือกิจกรรมที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจ มักจะเป็นเรื่องที่ตนเองชอบหรือมีความถนัด สามารถทำได้ดี ประสบผลสำเร็จ เมื่อทำแล้วเกิดความสุข เกิดแรงจูงใจที่จะทำอีก เด็กที่มีวงจรความสุข มักจะไม่เข้าหายาเสพติด หรือมีเพศสัมพันธ์



การส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ทำได้อย่างไร

การส่งเสริมสุขภาพจิตวัยรุ่น ต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ให้มีการพัฒนาเด็กทุกด้านไปพร้อมๆกัน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม

ใครจะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น

เด็กได้รับอิทธิพลจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เริ่มต้นจากพ่อแม่ พี่น้อง ญาติใกล้ชิด เพื่อน เพื่อนบ้าน เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนก็ได้รับอิทธิพลจากครูและเพื่อนนักเรียน รุ่นพี่รุ่นน้อง และจากสังคมสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก การส่งเสริมพัฒนาการเด็กจึงต้องการความร่วมมือกันของหลายฝ่าย เริ่มต้นจากที่บ้าน สานต่อที่โรงเรียน และสังคมรอบๆตัวเด็กนั่นเอง ทุกคนควรมีส่วนร่วมกันเสมอในการช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดี ที่ถูกต้อง มิใช่ช่วยแต่ลูกหลานของตนเอง แต่ช่วยลูกหลานคนอื่นด้วยเมื่อมีโอกาส เพราะในที่สุดทุกคนก็ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน

ตัวอย่างของการช่วยกันส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กที่ดี คือช่วยกันสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อเด็ก มีความปลอดภัย เมื่อเห็นเหตุการณ์ที่เด็กมีความลำบากเดือดร้อน ควรหาทางช่วยเหลือ แก้ไข ช่วยกันปกป้องเด็กไม่ให้ได้รับอบายมุข ยาเสพติด การกระตุ้น ยั่วยุทางเพศ เป็นต้น

บทบาทของพ่อแม่ ควรจะเป็นอย่างไร

บทบาทของพ่อแม่ในการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กเป็นบทบาทหลัก และเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการเด็ก หลักสำคัญคือความสัมพันธ์ที่ดีของพ่อแม่ ครอบครัวมีความรักความอบอุ่น มีความสุข มั่นคง

นอกจากนี้ สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดขึ้น คือ

1 สร้างความสำพันธ์ที่ดี กับเด็ก มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันต่อเนื่องสม่ำเสมอ และยาวนานพอ

· พ่อแม่ควรรู้เขา รู้เรา เข้าใจความคิดความรู้สึกของลูก คาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ลูกน่าจะคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร น่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา รู้จุดเด่น จุดอ่อน ของลูก

· รับฟังได้มากขึ้น เกิดการยอมรับกัน ประนีประนอมกัน

· สร้างขอบเขตที่เหมาะสมได้ง่าย เคารพในกติกาที่ช่วยกันสร้างขึ้น

· ส่งเสริม ชี้แนะ แนะนำ ตักเตือน

· ยืนยันในเรื่องที่ “วิกฤต” เท่าที่จำเป็น ไม่ควรมีมากนัก



2. ให้รางวัลในพฤติกรรมที่ดี พฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก การให้รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ หรือเงิน อาจให้คำชม การชื่นชม ก็เพียงพอสำหรับเด็ก



3. เอาจริงกับสิ่งที่ตกลงกันไว้ ถ้ามีการละเมิดข้อตกลง ต้องมีวิธีการเตือนที่ได้ผล พ่อแม่ควรทบทวนดูเสมอว่า วิธีการเตือนแบบใดที่ไม่ได้ผลก็ควรเลิกใช้ การเตือนที่ได้ผลมักจะเกิดจากการตกลงกันไว้ล่วงหน้า และเมื่อเตือนแล้วกำกับให้เกิดผลอย่างจริงจัง ทันที เด็กจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่เอาจริงกับสิ่งที่พูด และตกลงกันล่วงหน้า เมื่อมีการตกลงกันในเรื่องใดๆอีก เด็กก็จะตั้งใจทำตาม

วิธีที่ไม่ได้ผล

o การพูดย้ำซ้ำๆ แล้วเด็กไม่ได้ปฏิบัติ

o การบ่นมากๆ

o การเปรียบเทียบกับเด็กอื่นๆ

o การข่มขู่(แล้วไม่ได้ทำตามนั้น)

o การปรามาส ดูถูกให้ได้อายโดยหวังว่าจะฮึดสู้ มีมานะ และแก้ไขตนเองได้

o การลงโทษรุนแรง ด้วยกำลังเช่นการตี ตบ เตะต่อย ผลักไส หรือด้วยวาจา เช่น ด่าว่า เปรียบเทียบเป็นสัตว์ที่ด้อยปัญญา ด่ากระทบไปถึงคนอื่น เช่น พ่อมันไม่ดี แม่มันไม่สั่งสอน เชื้อสายมันเลว

o ตัดความสำพันธ์ ไม่พูดด้วย ไม่สนใจ ไม่ดูแล ไม่ส่งเสริม โดยหวังว่าจะสำนึกและมาขอโทษ



วิธีที่น่าจะทำ

· เอาจริงทันที โดยเฉพาะตอนเริ่มต้นสร้างกติกากันใหม่ๆ ต้องคอยสังเกต ติดตาม ถ้าทำได้อย่าลืมชื่นชม ถ้าทำไม่ได้ ควรมองในแง่ดีว่า เขาอาจลืม ยังไม่สม่ำเสมอจนจะทำได้เป็นอัตโนมัติ ซึ่งจะต้องทำซ้ำๆต่อเนื่องกันนั้นนานพอ (ประมาณ 3 สัปดาห์) ในเด็กสมาธิสั้นอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ และในกรณีที่เป็นการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีเก่าที่ทำติดตัวมานานแล้ว อาจต้องใช้เวลามากขึ้น

· หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาทันที

· ทบทวนว่าเคยมีการพูดคุยกันล่วงหน้าก่อนหรือไม่ เช่น ถ้าเล่นเกมเลยเวลาที่ตกลงกันไว้ จะมีการจัดการอย่างไร ถ้ามีอยู่แล้ว ให้จัดการตามนั้นอย่างจริงจัง แต่นุ่มนวล เน้นเรื่องของการตกลง ทำอย่างไรได้ผลอย่างนั้น ถ้าไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก ควรทำอย่างไร คาดหวังว่า ครั้งต่อไปเขาจะควบคุมตัวเองได้

· รับฟังความคิดเห็น คำโวยวายได้สั้นๆ จับประเด็นที่ไม่พอใจ สะท้อนความคิด ความรู้สึกของเขาสั้นๆ

· ไม่มีการต่อรอง เจรจา ผัดผ่อน การดำเนินการควรทำทันที และเป็นไปให้สอดคล้องกับการตกลงกันไว้ล่วงหน้า

· ถ้าไม่มีการตกลงกันล่วงหน้า ให้ใช้ กฎมาตรฐาน เช่น ไม่ละเมิดผู้อื่น ไม่ละเมิดตนเอง ไม่ทำให้ของเสียหาย หรือฟุ่มเฟือยเกินเหตุ และตั้งเป็นกติกามาตรฐานไว้เลย เด็กจะต้องการหลักยึดที่ชัดเจน และบางครั้งอาจต้องลงรายละเอียดให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น

-อย่านอนดึก ควรเปลี่ยนเป็น เวลานอนที่กำหนด คือ สี่ทุ่ม

-ต้องอ่านหนังสือเรียน ควรเปลี่ยนเป็น เวลาอ่านหนังสือ คือ สามทุ่ม ถึงสี่ทุ่ม



มีการกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติในระยะแรกให้ชัดเจน เช่น กฎข้อนี้เราจะทดลองทำร่วมกันประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีการมาทบทวนกันใหม่ เป็นการเปิดช่องทางให้มีการเจรจา เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยพ่อแม่ไม่เสียหน้า และปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้ทำได้ง่ายขึ้น เปิดช่องให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่รู้สึกเป็นการบังคับกันเกินไป และได้การเรียนรู้ว่า เมื่อตกลงกันแล้ว ต้องทำ ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยังมีโอกาสทำได้อยู่ แต่ต้องมาตกลงกันก่อน เป็นการเปิดช่องทางการ “เจรจา” เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมแล้วจะมีแรงจูงใจให้เขาทำตามนั้นมากขึ้น การให้เด็กสร้างกติกากับตนเอง เป็นการฝึกให้เขาเป็นตัวของตัวเอง แต่มีระเบียบวินัยจากภายใน (self control) ซึ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตเขาต่อไป พ่อแม่จะเหนื่อยน้อยลงที่จะไม่ต้องไปสร้างระเบียบวินัยจากภายนอก (external control or social rules)

เมื่อมีการลงโทษ ควรสรุปสั้นๆก่อนการลงโทษ ว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดจึงมีการลงโทษ ชื่นชมเด็กที่รู้จักสำนึกได้ หรือเปิดเผยไม่โกหกปิดบัง ชวนให้เด็กคิดว่า ถ้าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก ควรจะทำอย่างไร จะป้องกันได้อย่างไร และคาดหวังในทางที่ดีว่า เขาน่าจะทำได้ เราจะคอยดู และชื่นชมเขาในโอกาสต่อไป

ถ้าเด็กไม่คิดไม่เรียนรู้ ไม่สำนึกในระยะแรก ให้คุยใหม่หลังจากพ้นโทษทันที หรือในระยะเวลาต่อมาที่ไม่นานเกินไป ชวนคุยให้เด็กทบทวนตนเองว่า เกิดอะไรขึ้น รู้สึกอย่างไร อยากป้องกันไม่ให้เกิดอีกอย่างไรดี กระตุ้นให้คิด และชมความคิดที่ดีของเขา เป็นการฝึกให้เด็กคิด “ทบทวนตนเอง” และวางแผนเกี่ยวกับตนเอง ที่สำคัญคือ นำมาใช้กับชีวิตตนเองได้มากขึ้น โดยไม่ต้องให้มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คอยบอกคอยเตือน คอยบังคับให้ทำโน่นทำนี่อีกต่อไป



4 เปิดโอกาสให้ได้รับการชื่นชม สร้างกิจกรรมที่เด็กจะได้แสดงออกอย่างภาคภูมิใจตนเอง ตามความชอบความถนัด



5 หาพฤติกรรมทดแทน มาแทนที่พฤติกรรมที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น



6 พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี มีระเบียบวินัย จัดการกับชีวิตอย่างเหมาะสม มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง



7 ส่งเสริมพฤติกรรมและการเรียนรู้ให้ครบทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม สังเกตจุดอ่อน และสร้างทักษะใหม่ที่จะเอาชนะจุดอ่อนเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งเสริมจุดเด่นให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เอาตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง



8 ช่วยให้เด็กหาเอกลักษณ์ของตนเองได้ สังเกตจาก ความชอบ ความถนัด ผลการเรียน กิจกรรม ที่ชอบ และทำได้ด้วยตัวเอง ความพอใจ แนวคิด ความเชื่อ กลุ่มเพื่อน วิชาชีพที่อยากเรียน อาชีพที่ต้องการ รวมถึงเอกลักษณ์ทางเพศ สนับสนุนให้เป็นไปตามเอกลักษณ์ แต่ให้ได้การเรียนรู้ในพัฒนาการด้านอื่นๆด้วย

เด็กทุกคนควรมี “วงจรชีวิตที่สร้างความสุข” (pleasure circuit) เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างถูกต้อง ในเวลาว่าง หรือในเวลาที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้น แม้ว่าจะขาดโอกาส ขาดเงิน อยู่คนเดียว มีความทุกข์ มีเหตุการณ์บีบคั้น

ตัวอย่างของวงจรความสุขที่ดี

การอ่าน การเขียน

ศิลปะ วาดรูป ระบายสี แกะสลัก เซรามิกส์ ดนตรี กวี

การท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ และสร้างสรรค์ ทัศนศึกษา

การเล่นกีฬา แอโรบิก กีฬาทักษะฝีมือ กีฬาสร้างความพร้อม(การต่อสู้ป้องกันตัว) กีฬาเอาตัวรอด(ว่ายน้ำ วิ่ง ปีนป่าย)

เกม หมากกระดาน



9 สนับสนุนกลุ่มเพื่อนที่ดี ช่วยแก้ไขกลุ่มที่มีความเสี่ยง รักลูก ให้รักเพื่อนของลูกด้วย เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากกันเอง ภายใต้การดูแล “เงียบๆ” หัดให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์เพื่อนให้เป็น



10 ฝึกให้เด็กรู้จักการจัดการกับความเสี่ยง (risk management)

วิเคราะห์ความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยง โอกาสอันตราย คิดล่วงหน้าถึงความเป็นไปได้ในด้านลบ

หาสาเหตุของความเสี่ยง และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างถี่ถ้วน

หาวิธีป้องกันความเสี่ยง การลดความเสี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ หรือการแก้ไขปัญหา ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น มีช่องทางออก ทางหนีทีไล่อย่างไร วิเคราะห์โอกาสต่างๆ ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มาฝึกสมองกัน

กราดยิงคนในโรงภาพยนตร์เซ็นจูรี รัฐโคโลราโด สหรัฐฯ ขณะฉายภาพยนตร์ BATMAN Dark Knight Rises (ข่าวที่น่าสนใน ถึงจะนานไปหน่อยแต่ก็ยังได้อยู่)


เหตุการณ์กราดยิงคนในโรงภาพยนตร์เซ็นจูรี รัฐโคโลราโด สหรัฐฯ ขณะฉายภาพยนตร์ BATMAN Dark Knight Rises รอบปฐมทัศน์
1. นศ. แพทย์ป.เอกมือปืนกราดยิงในโรงหนังดับ14ศพ
วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 suthichaiyoon.com

ช็อกโลก! "เจมส์ โฮล์มส" ผู้ต้องสงสัยเป็นมือปืนนั้น สื่อสหรัฐรายงานว่า เป็นนักศึกษาแพทย์จากซานดิเอโก ก่อเหตุร้ายรอบปฐมทัศน์ BATMAN Dark Knight Rises เมื่อมือปืนบุกปาระเบิดควัน ก่อนใช่ไรเฟิลกราดยิงกลางโรงหนังชานเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ดับ 14 ศพ เจ็บครึ่งร้อย ผู้ชมหลงคิดว่าเป็นเสียงเอฟเฟกท์ดังจากหนัง ก่อนหนีตายโกลาหล "โอบามา" ตะลึงและเสียใจโศกนาฏกรรม รัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อเยียวยาประชาชนในเมืองออโรรา
โดยผู้ต้องสงสัยเป็นอดีตนศ.ปริญญาเอก ติดกับระเบิดที่อพาร์ตเมนต์ สำหรับนายเจมส์ โฮล์มส ผู้ต้องสงสัยเป็นมือปืนนั้น สื่อสหรัฐรายงานว่า เป็นนักศึกษาแพทย์จากซานดิเอโก และย้ายมายังเมืองออโรรา รัฐโคโลราโด เพื่อทำปริญญาเอกด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ เมื่อปีที่แล้ว แต่เพิ่งถอนตัวเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
นายโฮล์มสพักอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ห่างจากโรงภาพยนตร์ที่เกิดเหตุไม่กี่กิโลเมตร และบอกกับตำรวจว่า มีระเบิดอยู่ในห้องพักของเขาบนชั้น 3 ต่อมานายคริส เฮนเดอร์สัน หัวหน้าตำรวจดับเพลิงออโรรากล่าวว่า อพาร์ตเมนต์ดังกล่าวติดกับระเบิดเป็นลักษณะขวดลิตรหลายขวดเชื่อมต่อกันด้วยสายไฟฟ้าอยู่ที่ด้านหน้าของห้อง ทั้งยังมีอุปกรณ์ข้าวของที่ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นอะไรแน่อีกจำนวนหนึ่ง ตำรวจต้องสั่งอพยพคนออกจากอาคารหลายแห่งในละแวกนั้น ขณะที่หน่วยเก็บกู้ระเบิดเตรียมใช้หุ่นยนต์สำรวจ
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (20 ก.ค.) สหรัฐอเมริกาเผชิญกับเหตุสะเทือนขวัญกราดยิงสังหารหมู่ครั้งร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง มือปืนบุกเดี่ยวกราดยิงผู้ชมกลางโรงภาพยนตร์เซ็นจูรี 16 ในห้างสรรพสินค้าออโรรา ชานเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เมื่อเวลาประมาณ 00.30 น.วันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น (13.30 น.ตามเวลาไทย) ขณะกำลังฉายภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ ดาร์ค ไนท์ ไรเซส" หรือ "แบทแมน อัศวินรัตติกาลผงาด" รอบปฐมฤกษ์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 14 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 50 คน โดย 10 คนเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ อีก 4 คนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนผู้บาดเจ็บมีอย่างน้อย 20 คน บาดเจ็บจากกระสุนปืน อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงวิกฤติตำรวจยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่หนังติดเรต พีจี-13 จึงคาดว่าจะมีวัยรุ่นเข้าชมด้วยจำนวนหนึ่ง ขณะที่สถานีโทรทัศน์นายนิวส์ และผู้เห็นเหตุการณ์รายงานว่า ในหมู่ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมีเด็กรวมอยู่ด้วยหลายคน
นายแดน โออาเทส หัวหน้าตำรวจออโรรา แถลงว่า ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นมือปืนในรถยนต์คันหนึ่งในลานจอดรถใกล้เคียง โดยไม่มีการขัดขืน ซึ่งต่อมาเดนเวอร์โพสต์ระบุว่า เป็นชายวัย 24 ปี พร้อมยึดปืนไรเฟิล 1 กระบอก ปืนพก 2 กระบอก หน้ากากกันแก๊ส แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีมือปืนคนที่สองตามข่าวที่ออกมาในตอนแรก ผู้ต้องสงสัยอ้างว่า มีวัตถุระเบิดที่บ้านพักด้วย ตำรวจจึงสั่งอพยพคนออกจากอพาร์ตเมนต์ที่พักของเขาเพื่อเข้าตรวจค้น
ผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนบอกตรงกันว่า มือปืนแต่งกายชุดดำ สวมเสื้อกันกระสุน และหน้ากาก ค่อยๆ เดินเข้ามาจากประตูทางออกด้านขวาใกล้กับแถวหน้าสุด หลังจากหนังฉายไปได้ 30-40 นาที และโยนระเบิดควัน หรือแก๊สน้ำตา เข้าไปในโรงภาพยนตร์ก่อนเปิดฉากยิงอย่างไม่เลือกหน้า
นายเฮย์เดน มิลเลอร์ ผู้อยู่ภายในโรงหนังที่เกิดเหตุ กล่าวต่อทีวีท้องถิ่นว่า ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดขนาดย่อมๆ ต่อเนื่อง ตามด้วยเสียงกรีดร้องของผู้คน ตอนแรกคิดว่าเป็นเสียงดังมาภาพยนตร์จากโรงหนังที่อยู่ถัดไป ก่อนจะเห็นคนวิ่งกรูออกจากโรงหนัง เช่นเดียวกับผู้เห็นเหตุการณ์อีกคน เล่าว่า เสียงปืนและเสียงดังคล้ายประทัดดังขึ้นระหว่างฉากบู๊ นึกว่าเป็นเสียงดังมาจากภาพยนตร์เลยนั่งดูหนังกันต่อไปอีกพักหนึ่งกว่าจะรู้ว่ามีมือปืนจริงๆ อยู่ในโรงหนัง ส่วนกลุ่มควันในตอนแรกมีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า นึกว่าเป็นเทคนิคพิเศษของโรงหนังเช่นกัน
ตำรวจยังไม่ทราบหรือยังไม่เปิดเผยมูลเหตุจูงใจของคนร้ายที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ แต่เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เอฟบีไอระบุว่า ไม่น่าจะเกี่ยวโยงกับก่อการร้าย ผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนระบุว่า สภาพหลังเกิดเหตุปั่นป่วนโกลาหลคล้ายกับฉากในหนังแบทแมนเวลาผู้ร้ายบ้าคลั่งก่อเหตุเขย่าขวัญเมืองก็อทธัม เมืองสมมุติในเรื่องแบทแมน จึงตั้งข้อสงสัยว่า ภาพยนตร์อาจเป็นแรงดลใจหรือไม่
เหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดในรัฐโคโลราโดส่งผลกระทบต่อการจัดฉายรอบปฐมทัศน์ของหนังเรื่องแบทแมนภาคล่าสุดไปด้วย โดยบริษัทวอเนอร์ บราเธอร์ส ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสีย และยกเลิกงานปูพรมแดงจัดฉายรอบปฐมทัศน์ ที่โรงภาพยนตร์ในย่านฌอง อลิเซส์ กรุงปารีสแล้ว ซึ่งตามแผนเดิมนั้น คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับ เตรียมขนนักแสดงไม่ว่าจะเป็น คริสเตียน เบล มอร์แกน ฟรีแมน แอน แฮธทาเวย์ และดาราคนอื่นๆ มาร่วมงานกันครบทีม
ที่นิวยอร์ค สำนักงานตำรวจออกแถลงการณ์ว่า ได้จัดกำลังรักษาความปลอดภัยโรงภาพยนตร์ที่จัดฉายแบทแมน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ และเพื่อความสบายใจของผู้ชม หลังเหตุกราดยิงในโคโลราโด ซึ่งนับเป็นเหตุยิงสังหารหมู่ครั้งร้ายแรงที่สุดนับจากนักศึกษาเชื้อสายเกาหลี วัย 32 ปี ก่อเหตุกราดยิงที่วิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค ในรัฐเวอร์จิเนีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 32 คน บาดเจ็บ 15 คน เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
เหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 คน โดย 10 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุและอีก 4 คนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และมีผู้บาดเจ็บอีก 50 คน ส่วนมือปืน สวมเสื้อกันกระสุนถูกจับตัวได้ที่ลานจอดของโรงภาพยนตร์ พร้อมปืนไรเฟิลและปืนพกสั้นอีก 2 กระบอก นอกจากนี้ผู้ต้องสงสัยยังอ้างว่ามีระเบิดอยู่ที่บ้านพัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้อพยพคนออกจากอพาร์ตเมนต์ที่เขาพักอาศัยเพื่อตรวจค้นแล้ว
ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า มือปืนได้เข้ามาทางประตูทางออกฉุกเฉินและขว้างระเบิดควันเข้าไปในโรงภาพยนตร์ ก่อนเปิดฉากยิง แต่บางคนบอกว่าขว้างแก๊สน้ำตา โดยช่วงนั้นภาพยนตร์เรื่องแบทเมนเริ่มฉายไปได้ 15 นาที และได้ยิงเสียงปืน 10-20 นัด บางคนเล่าว่า ได้ยิงเสียงคล้ายระเบิด และมีเสียงคนกรีดร้อง ขณะวิ่งกรูกันออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความตื่นตกใจ ตอนแรกผู้ชมหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเสียงปืนที่ได้ยินมาจากโรงอื่นที่อยู่ถัดไป
2. ไขปริศนา "โจ๊กเกอร์" มือปืนคลั่งยิงฆ่าหมู่โรงหนังแบตแมน สหรัฐอเมริกา
วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 02:56 น. ข่าวสดออนไลน์



โฮล์มส์ หนุ่มอเมริกันผิวขาว อายุ 24 ปี ไม่มีประวัติอาชญากรรมใดๆ กลับเป็นมือปืนที่บุกเข้าโรงหนังทางประตูฉุกเฉิน ช่วงประมาณ 10 นาทีเมื่อภาพยนตร์แบตแมนภาคใหม่ "เดอะ ดาร์ก ไนต์ ไรส์เซส" เริ่มฉาย
จากนั้นใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่เหยื่ออย่างไม่เลือกหน้า ขณะที่ผู้ชมบางคนไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าเป็นเอฟเฟ็กต์นอกจอ กระทั่งเหตุการณ์เริ่มชัดเจน ทุกคนวิ่งแตกตื่นหนีตาย
ส่วนนายโฮล์มส์รอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในลานจอดรถโดยไม่คิดต่อสู้ พร้อมประกาศต่อตำรวจที่เข้าจับกุมว่าตนคือ โจ๊กเกอร์ จอมวายร้ายตัวฉกาจในหนังแบตแมน
ไม่เท่านั้น ในห้องพักของมือปืนหนุ่มยังติดตั้ง "กับดักระเบิด" ซึ่งตำรวจต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะเก็บกู้หมด ส่วนอาวุธที่ได้มานั้น นายโฮล์มส์ใช้เวลา 4 เดือนซื้อปืนไรเฟิล ปืนลูกซอง ปืนพก กระสุน 6,300 นัด หน้ากากกันแก๊ส และชุดเกราะกันกระสุน
นายโฮล์มส์ปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวขึ้นศาลในวันที่ 23 ก.ค. ในรูปโฉมย้อมผมสีแสด แต่ทำหน้าตาสะลึมสะลือราวกับไม่ได้นอนมาหลายคืน บางครั้งตาเหลือกตาถลน เมื่อผู้พิพากษาพูดด้วยก็ไม่ยอมตอบ ทนายฝ่ายจำเลยต้องสนทนาแทนให้
เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวนายโฮล์มส์ระบุว่า ผู้ต้องหารายนี้ถูกขังเดี่ยว 23 ชั่วโมงต่อวัน ได้ออกมาออกกำลังกายวันละชั่วโมงเดียว ตลอดเวลาในห้องขังนายโฮล์มส์เอาแต่ถ่มน้ำลายและคิดว่าตัวเองแสดงหนังอยู่ โดยไม่ยอมให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่สอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น
แรงจูงใจการก่อเหตุฆ่าหมู่จึงยังเป็นปริศนาอยู่ และหลายคนตั้งคำถามว่านายโฮล์มส์จะเข้าข่ายเป็นวิกลจริตหรือไม่
ประวัตินายโฮล์มส์ค่อนข้างจำกัด สื่อสหรัฐเผยเพียงว่า นายโฮล์มส์เกิดและเติบโตในนครซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย พ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ แม่มีอาชีพเป็นนางพยาบาล มีน้องสาวคนหนึ่ง
นายโฮล์มส์ไปได้ดีในการเรียนระดับปริญญาโทในรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่สะดุดระดับปริญญาเอกที่รัฐโคโลราโด จนถอนจากการเรียน แต่ก่อนหน้านี้ เพื่อนร่วมชั้นเรียนหลายคนกล่าวตรงกันว่านายโฮล์มส์เป็นนักเรียนที่ปราดเปรื่อง บางครั้งไม่ได้จดโน้ตเลยก็สอบได้เกรด A นอกจากนี้เคยเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม นายโฮล์มส์ดูเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยยิ้มหรือพูดคุยด้วยหากถูกทักตามถนน ในเวลาว่างนายโฮล์มส์เล่นฟุตบอลและเล่นวิดีโอเกมกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ แต่ต่อมาทุ่มเทให้กับงานวิชาการจนเลิกงานอดิเรก
ส่วนที่โคโลราโด นายโฮล์มส์เช่าอพาร์ตเมนต์ในเขตออโรรา ซึ่งเป็นย่านชาวละตินอเมริกัน มีคนขาวไม่กี่คน หลายคนพบเห็นนายโฮล์มส์นั่งกินข้าวหรือดื่มเบียร์อยู่คนเดียวบ่อยๆ
หลังประสบปัญหากับการเรียนด๊อกเตอร์ เพื่อนบ้านเริ่มได้ยินเสียงเพลงร็อกดังสนั่นในช่วงกลางดึกจากห้องนายโฮล์มส์อยู่บ่อยๆ เมื่อขึ้นไปตรวจสอบก็พบว่าช่องกระจกต่างๆ ถูกปิดทับหมดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ราวกับกลัวใครเห็นว่าตนทำอะไรอยู่ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าแรงจูงใจของนายโฮล์มส์คืออะไร และจะอันตรายอย่างยิ่งหากกล่าวโทษปัจจัยใดๆ ว่าเป็นตัวการก่อเหตุ
ในภาพยนตร์ "แบตแมน" ภาคที่แล้ว แบตแมนค้นพบว่าคนร้ายอย่าง "โจ๊กเกอร์" เป็นคนที่ไม่มีใครเข้าใจได้ เพราะโจ๊กเกอร์ก่อความวุ่นวายโดยไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ เพียงแค่ต้องการเห็นโลกไหม้เป็นจุณเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แบตแมนก็ยังค้นพบว่า วิธีเดียวที่จะรับมือ "โจ๊กเกอร์" ได้คือต้องไม่ถูกความกลัวหรือความปั่นป่วนนั้นครอบงำเสียเอง ดังนั้น หากนายโฮล์มส์ต้องการเลียนแบบ "โจ๊กเกอร์" ชาวอเมริกันคงต้องสวมบท "แบตแมน" เพื่อรับมือในเหตุการณ์นี้เช่นกัน!!