วัตถุประสงค์ของบล็อกนี้

เพื่อประกอบการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และเป็นเเหล่งรวบรวมความรู้ต่างๆที่น่าสนใจ

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทความจิตวิทยา

ควรใช้จิตวิทยามาช่วยแก้ปัญหามนุษย์และสังคมไทยให้มากขึ้น

โดย : รศ.วิทยากร เชียงกูล
 จิตวิทยาหรือการศึกษาเรื่องความคิดจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นวิชาที่สำคัญสำหรับชีวิตของเราทุกคน
แต่เรากลับมีโอกาสได้เรียนรู้น้อยมาก เพราะระบบการศึกษาของไทยเน้นความรู้ทางวิชาชีพ เพื่อสร้างแรงงานไปรับใช้การพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมมากกว่าการพัฒนาคนอย่างสมบูรณ์
วิชาจิตวิทยาสมัยใหม่เริ่มมาราวร้อยกว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัย วิลเฮล็ม วุนด์น (1832-1920) ชาวเยอรมนี และ วิลเลียม เจมส์ (1842-1910) นักปรัชญาชาวอเมริกัน พวกเขาเสนอให้ เราควรศึกษาเรื่องการทำงานของความคิดจิตใจเป็นสาขาวิชาต่างหากจากวิชาปรัชญาและสรีรวิทยา โดยควรใช้การทดลองหลักฐานเชิงประจักษ์และเน้นความคิดจิตใจของคนเรา ทั้งความหวัง ความรัก ความปรารถนา ความกลัว ฯลฯ ที่อยู่ในสมองของเรามากขึ้น
คนที่สร้างผลงานเขียนทำให้วิชาจิตวิทยาเป็นที่รู้จักมากขึ้น คือ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (1856-1939) แพทย์และนักประสาทวิทยาชาวออสเตรีย ประสบการณ์การวิจัยและการทำงานของเขาเกี่ยวกับสรีรวิทยาของสมองและคนไข้ที่ทุกข์ทรมานจากอาการ “ฮิสทีเรีย” ทำให้ฟรอยด์สนใจศึกษาถึงอิทธิพลของจิตใต้สำนึกต่อพฤติกรรมของมนุษย์และเรื่องความฝัน ซึ่งเขามองว่าเป็นการสะท้อนของจิตใต้สำนึกของมนุษย์ที่เก็บกดไว้ตั้งแต่วัยเด็ก
งานของฟรอยด์ส่วนใหญ่ได้มาจากการสังเกตคนไข้ การตีความ และการพิจารณาใคร่ครวญด้วยตนเอง ไม่ใช่การวิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แท้ๆ ซึ่งในสมัยนั้นยังมีข้อจำกัด ฟรอยด์เป็นนักคิดริเริ่มและเป็นคนเขียนหนังสือเก่ง การที่เขากล้าเสนอเรื่อง การเก็บกดและจิตใจสำนึกในเรื่องเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมยุคนั้นถือเป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้หนังสือของเขาได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง คนหลายคนสนใจเข้ามาศึกษาเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพราะได้แรงบันดาลใจจากอ่านหนังสือของฟรอยด์
แม้สิ่งที่ฟรอยด์เสนอหลายอย่างจะถูกพิสูจน์ต่อมาภายหลัง (จากการวิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น) ว่า ผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่ข้อเสนอของฟรอยด์ซึ่งเน้นเรื่องจิตใต้สำนึกมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ รวมทั้งวิธีการบำบัดคนไข้สุขภาพจิตแบบที่จิตแพทย์นั่งพูดคุยกับคนไข้ ให้คนไข้ระบายความคิดความเข้าใจของเขาออกมาเพื่อหาความเข้าใจและทางออกร่วมกันเป็นวิธีการบำบัดที่มีอิทธิพลต่อวงการวิชาจิตวิทยาและจิตเวช นักจิตวิทยารุ่นหลังฟรอยด์ ถ้าไม่เป็นผู้สนับสนุนก็เป็นผู้คัดค้านฟรอยด์ หรือเป็นพวกฟรอยด์ใหม่ (Neo-Freudians) หรือผู้ก้าวข้ามพ้น
ฟรอยด์ (Post-Freudians)
นักจิตวิทยาที่เคยร่วมงานกับฟรอยด์ เช่น คาร์ล จุง (1875-1961) อัลเฟรด แอดเลอร์ (1870-1930) แยกตัวมาคัดค้านฟรอยด์ในแง่ที่ว่าฟรอยด์เน้นเรื่องจิตใต้สำนึกเก็บกดเรื่องเพศมากไป แต่พวกเขาเห็นด้วยในแง่ที่ว่าจิตใต้สำนึกอื่นๆ เช่น จิตสำนึกรวมหมู่ (Collective Unconscos) ซึ่งเป็นผลมาจากวิวัฒนาการของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม (คาร์ล จุง) และจิตใต้สำนึกในการมุ่งสร้างสิ่งที่ดีขึ้น เพื่อชดเชยสิ่งที่เป็นที่ต้องการขาดแคลนตั้งแต่วัยเด็ก (แอดเลอร์) มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์
กลุ่มที่คัดค้านทฤษฎีฟรอยด์ คือ สำนักพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ผู้เสนอว่า พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อแรงกระตุ้น เงื่อนไขต่างๆ ที่มนุษย์ได้รับ พฤติกรรมเป็นเรื่องที่สามารถสังเกตได้โดยตรงและตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับประสบการณ์ภายในจิตใจที่ไม่สามารถตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้
บี เอฟ สกินเนอร์ (1904-1990) สำนักพฤติกรรมนิยมได้เสนอว่า สภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราเป็นอยู่และเราเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการกระทำของเรา ตามที่เราเรียนรู้ว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีต่อการอยู่รอดของเรา ถ้าหากเราต้องการสร้างโลกที่ดีขึ้น เราจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนมีพฤติกรรมสร้างสรรค์และมีจริยธรรมมากขึ้น นั่นก็คือ เราควรส่งเสริมการให้รางวัลการทำดีและพฤติกรรมการทำเพื่อส่วนรวม แทนที่จะให้รางวัลสำหรับพฤติกรรมแบบอื่นๆ
ในคริสต์ทศวรรษ 1960 นอม ชอมสกี้ (1928) คัดค้านว่า ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมมีจุดอ่อนที่เน้นการมองเงื่อนไขปัจจัยภายนอกด้านเดียวมากเกินไป ทั้งๆ ที่บทบาทของความคิดจิตใจเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้
นักจิตวิทยาแนวเอกซิสเตนเชียลลิสม์-มนุษยนิยม (Existentiaist-Humanistic Psychology) วิจารณ์ทั้งทฤษฎีพฤติกรรมนิยมและจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ นักจิตวิทยาแนวนี้เสนอให้มนุษย์เรียนรู้จักตนเองพิจารณาความเป็นคนทั้งหมด ไม่ใช่แค่บุคลิกภาพหรือส่วนที่มีบทบาทในการเรียนรู้เป็นส่วนๆ
ในทศวรรษ 1960 นักจิตวิทยากลุ่ม จิตวิทยาการรู้คิด (Cognitive Psychology) ได้เปิดเผยให้เห็นว่า ความคิดจิตใจของมนุษย์ คือ การประมวลการรับรู้ข้อมูลและเครื่องแปลที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างแบบแผนและการรับรู้ต่อโลกที่อยู่ภายนอกเรา เป็นผู้กำหนดแผนที่ของความจริงตามที่เราแต่ละคนรับรู้ ความคิด (Thoughts) ของคนเราเป็นตัวกำหนดอารมณ์ (Emotion) ของเรา ไม่ใช่ในทางกลับกัน ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดของเรา เช่น การคิดในทางบวกอย่างสมจริง การคิดในทางสร้างสรรค์ เราจะสามารถลดปัญหาความซึมเศร้า หรือสามารถควบคุมพฤติกรรมของเราได้ดียิ่งขึ้น
สำนัก จิตวิทยาแนวบวก (Positive Psychology) พยายามเปลี่ยนทิศทางของวิชาจิตวิทยา ซึ่งก่อนหน้านั้น เน้นแต่เรื่องปัญหาความป่วยไข้ทางจิต มาศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรทำให้คนมีความสุข มองโลกในแง่ดีและมีความคิดสร้างสรรค์ในทางบวก สำนักจิตวิทยาทางบวกเสนอว่า ทั้งความคิดและอารมณ์ต่างมีอิทธิพลต่อกันและกัน
สำนักจิตวิทยาวิพากษ์ (Critical Psychology) จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เห็นว่าการศึกษาวิชาจิตวิทยาที่จะเข้าใจชีวิตและสังคมได้อย่างแท้จริง ต้องศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ที่มีผลกระทบต่อความคิดจิตใจของคนอย่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม คือ ต้องมองไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่ระบบสังคมหรือสภาพแวดล้อมทั้งหมดด้วย ไม่ใช่มุ่งเปลี่ยนแปลงที่ความคิดจิตใจของปัจเจกชนด้านเดียว
น่าเสียดายที่นักวิชาการด้านจิตวิทยาของไทยยังมีน้อยเกินไป และที่มีอยู่ก็ยังคิดและทำงานในกรอบกระแสหลักแบบเก่ามากเกินไป วิธีการเลี้ยงดูลูกของคนไทย ระบบการศึกษาไทย พัฒนาการทางอารมณ์และจิตสำนึกคนไทย รวมทั้งผู้นำส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาอยู่มาก เราควรช่วยกันกระตุ้นความสนใจศึกษาเรื่องจิตวิทยาอย่างเร่งด่วนและกว้างขวาง เพื่อที่จะได้พัฒนาจิตใจ คนไทยให้ฉลาด มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น เราจะได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ มองการณ์ไกลเพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น