วัตถุประสงค์ของบล็อกนี้

เพื่อประกอบการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และเป็นเเหล่งรวบรวมความรู้ต่างๆที่น่าสนใจ

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จิตวิทยาเชิงบวกกับบทบาทในการแก้ไขปัญหาสังคมไทย

   หากพูดถึงจิตวิทยา คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงซิกมันด์ ฟรอยด์ (1856-1939) แพทย์และนักประสาทวิทยาชาวออสเตรีย ประสบการณ์การวิจัยและการทำงานของฟรอยด์เกี่ยวกับสรีรวิทยาของสมองและคนไข้ที่ทุกข์ทรมานจากอาการฮิสทีเรีย ทำให้เขาสนใจศึกษาถึงอิทธิพลของจิตใต้สำนึกที่มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ และเรื่องความฝัน ซึ่งเขามองว่าเป็นการสะท้อนของจิตใต้สำนึกของมนุษย์ที่เก็บกดไว้ตั้งแต่วัยเด็ก และหากย้อนเวลาไปไกลถึงสมัยของวิลเฮล็ม วุนด์น (1832-1920)นักปรัชญาชาวอเมริกันซึ่งผลักดันให้มีการศึกษาเรื่องการทำงานของความคิดจิตใจ ความหวัง ความรัก ความปรารถนา และความกลัวที่อยู่ในสมองของคนมากขึ้น ก็ยิ่งพบว่า คนเราให้ความสนใจเรื่องจิตวิทยามานานกว่าร้อยปี ในส่วนของประเทศไทยนั้น แม้ระบบการศึกษาของเราจะมุ่งเน้นความรู้ทางวิชาชีพ แต่ก็ปัจจุบันคนไทยกำลังตื่นตัวเรื่องจิตวิทยาสมัยใหม่กันอย่างมาก โดยเฉพาะ จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)  
                ปัจจุบันพบว่า วิชาจิตวิทยาเชิงบวก เป็นวิชายอดนิยมที่นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดลงทะเบียนเรียนมากเป็นอันดับต้นๆ ไม่ต่ำกว่า 800คน ในแต่ละภาคเรียน นั่นก็เพราะกระแสการสร้างความสุขและความสมดุลในชีวิตกำลังเบ่งบานในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะในยามที่วิกฤตเศรษฐกิจลุกลามไปทั่วโลกเช่นนี้ ผู้คนต่างก็มีความเครียดในการทำงานและการดำเนินชีวิต เราจึงไม่แปลกใจที่จะเห็นองค์กรต่างๆ ตื่นตัวเรื่องการปลูกฝังแนวคิดเชิงบวกเพื่อให้ชีวิตมีความสุขและพร้อมจะรับมือกับวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน จิตวิทยาเชิงบวกมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยให้ผู้คนรู้จักตนเอง รู้จักชีวิต รู้ว่าคิดอย่างไรให้มีความสุข เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
                ที่ประเทศอังกฤษ มีการริเริ่มใช้จิตวิทยาเชิงบวก ภายใต้รหัสวิชา “สร้างความสุข” ให้กับเด็กนักเรียนระดับอายุ 11ปี เพื่อให้เด็กมีอาวุธรับมือกับความเครียดและความทุกข์ วิชานี้ได้ทดลองสอนให้กับนักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลราว 2,000คน เพื่อให้เด็กใช้เป็นเครื่องมือลดความทุกข์ ลดพฤติกรรมต่อต้านสังคม และสร้างเสริมความมั่นใจในตัวเอง เพื่อให้เด็กรู้จักสร้างความมั่นใจและสามารถรับมือกับความคิดด้านลบ รวมทั้งช่วยให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างเปิดเผย ผลการทดลองออกมาเป็นที่น่าพอใจและสามารถช่วยให้เด็กมีผลการเรียนดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ บี เอฟ สกินเนอร์ (1904-1990) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมบำบัดเคยกล่าวไว้ว่า สภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราเป็นอยู่ ดังนั้นเราจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนมีพฤติกรรมสร้างสรรค์และมีความคิดในเชิงบวก
            ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยของเรา แม้เรื่องจิตวิทยาเชิงบวกยังไม่ได้ถูกบรรจุให้เป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ แต่ปัจจุบัน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะจิตวิทยาเชิงบวกจะช่วยเสริมจุดแข็งและลบเลือนจุดอ่อนของคนเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ จิตวิทยาเชิงบวกยังมีความสำคัญและเป็นประโยชน์มากทั้งต่อปัจเจกชน และการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ  นักจิตวิทยาหลายคนของไทยกล่าวว่าจิตวิทยาเชิงบวกสามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ซึ่งจะช่วยพัฒนาการบุคคลอย่างมีวุฒิภาวะและแก้ปัญหาทางอารมณ์ได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นความฉลาดที่แตกต่างไปจากความฉลาดทางปัญญา (IQ) ที่มักเน้นความสามารถทางตรรกวิทยา  นอกจากนี้ จิตวิทยาเชิงบวกจะช่วยให้คนไทยสามารถรับมือกับวิกฤตในยุคนี้ได้ดีอย่างคาดไม่ถึง ... วิกฤติสามารถกระตุ้นให้คนค้นพบความหมายของชีวิต (Meaning of Life) ถึงขั้นพลิกวิถีการใช้ชีวิต มุ่งไปสู่การอยู่ดีมีสุข (Well-being) ที่แท้จริงได้ อีกทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามเชิงบวกกับตัวเองในการค้นหาเป้าประสงค์และคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ เพื่อกำหนดทิศทางและแผนการในการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีประสิทธิภาพและมีความหมาย  ซึ่งคำถามดังกล่าวได้แก่
              1. ความพึงพอใจในชีวิต (Pleasure)  เช่น เหตุการณ์อะไรที่ทำให้ฉันรู้สึกเป็นสุขและสงบอย่างมาก? หรือฉันรู้สึกสุขสดชื่นมีพลัง เมื่อได้ทำอะไรบ้าง?
              2. จุดประสงค์ของการมีชีวิต (Purpose) เช่น ฉันอยากทำอะไรในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่?  ฉันมาอยู่ในโลกนี้เพื่ออะไรและเพื่อใคร?
              3. การจัดสัดส่วนให้สมดุล (Proportion) เช่น ฉันควรจะปรับเปลี่ยนชีวิตการทำงาน ครอบครัว และชีวิตส่วนตัวให้มีความสมดุลได้อย่างไร?
จากคุณประโยชน์มากมายข้างต้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักจิตวิทยาของไทยเชื่อว่า จิตวิทยาเชิงบวกจะมีบทบาทมากขึ้นในการแก้ปัญหาสังคมไทย เพราะสามารถตอบสนองสภาพสังคมในปัจจุบันที่ผู้คนมักแสวงหาความสุข แต่ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร???

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น